SCBS ให้เป้า SET Index ปีนี้ไปถึง 1,900 จุด ปี 62 ลุ้นแตะ 2,000 จุด จับตาปัจจัย ตปท.กระทบบรรยากาศการลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 17, 2018 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า SCBS มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/61 จะเคลื่อนไหวแบบ Sideways หรือบวก-ลบ ไม่เกิน 50 จุด จาก 1,800 จุด แต่มองโอกาสการปรับขึ้นน่าจะยังลำบาก เนื่องจากเป็นไปตามปัจจัยฤดูกาล ซึ่งเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในไตรมาส 3/61 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตลาดปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก มองว่าการปรับตัวลงเพื่อรอจังหวะปรับตัวขึ้นต่อ โดย บล.ไทยพาณิชย์ยังคงเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปลายปี 61 ไว้ที่ 1,900 จุด และมีกำไรต่อหุ้น (EPS) 110 บาท/หุ้น จากปีก่อนอยู่ที่ 100 บาท/หุ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การใช้จ่ายภายในประเทศ จากงบประมาณกลางปีที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าในช่วงไตรมาส 2/61 และไตรมาส 3/61 วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท และการลงทุนในประเทศ จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/61 ถึงไตรมาส 3/61 หลังจากชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4/60 ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชนตามมา และส่งผลดีต่อดัชนีปีนี้

พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 62 จะปรับตัวขึ้นแตะ 2,000 จุด และมีกำไรต่อหุ้น (EPS) เติบโต 8-10% หรือ 120 บาท/หุ้น

"เรายังคงเป้าหมายดัชนีปีนี้ไว้ที่ 1,900 จุด ซึ่งยังไม่ได้นำเอาปัจจัยการเลือกตั้งเข้ามารวม แต่หากปัจจัยดังกล่าวเป็นไปตามโรดแมพที่รัฐบาลวางไว้ก็น่าจะสร้างความเขื่อมั่นต่อนักลงทุน และน่าจะส่งผลดีต่อดัชนี ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fun Flow) ในปีนี้ มองว่าไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันในประเทศเข้าซื้อมากกว่านักลงทุนสถานบันต่างประเทศ โดยกลางปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยรวม 1 แสนล้านบาท"นายอิสระ กล่าว

ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2/61 นั้น SCBS แนะนำหุ้น Top Picks ได้แก่ กลุ่มธนาคาร เช่น BBL, KTB เพราะสินเชื่อจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นและคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น และกลุ่มพาณิชย์ เช่น BJC, GLOBAL, ROBINS เพราะงบประมาณกลางปีจะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายรากหญ้า รวมถึงกลุ่มการแพทย์ เช่น BDMS, CHG เนื่องจากเป็นหุ้น laggard และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 61 ประกอบกับเทรนใหม่ของธุรกิจประกันสุขภาพ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว

"นอกจากหุ้น Top Picks ที่ได้แนะนำไว้ เรายังมองหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน EEC ตามการเบิกจ่ายของภาครัฐ" นายอิสระระบุ

อย่างไรก็ตาม แนะนำการลงทุนในภาวะที่ตลาดผันผวน และ P/E อยู่ในระดับสูง โดยคาดการณ์ P/E ปีนี้จะอยู่ที่ 15.6 เท่า นักลงทุนควรเก็บเงินสดไว้ในพอร์ตมากขึ้น เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อในช่วงที่หุ้นร่วงลงมา

นายอิสระ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะขยายตัวต่อเนื่อง หรือเติบโต 3.9% จากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 3.7% เป็นไปตามการปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ, ยูโรโซน และญี่ปุ่น ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะขยายตัวได้ดีราว 6.5% รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ IMF คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือมาที่ 1.9% ในปีนี้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน คือ ความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อาจส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจปรับขึ้นเร็วกว่าคาด เนื่องจากปัจจัยกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก จากตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น และ output gap เป็นบวกมากขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตตึงตัวมากขึ้นสอดคล้องกันในหลายๆ ภาคธุรกิจ ชี้ให้เห็นว่าโมเมนตัมการเติบโตอาจแข็งแกร่งกว่าคาดในสหรัฐฯ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 4 ครั้งในปีนี้ มากกว่าที่ตลาดคาดว่าน่าจะขึ้นเพียง 3 ครั้ง

ขณะเดียวกัน SCBS ยังมองความกังวลที่จะเกิดสงครามการค้าทั่วโลกกลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 59 สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องซักผ้า เหล็ก อลูมิเนียม ซึ่งแม้จะมีการผ่อนปรนให้กับคู่ค้าบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก ฯลฯ แต่การประกาศเตรียมขึ้นภาษีระรอกล่าสุดที่มีการตอบโต้ไปมาระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการค้ามากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ