บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยว่า ธนาคารทิสโก้ และ บริษัท ออล-เวย์ส จำกัด ได้ลงนามในสัญญาโอนขายลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิตให้แก่ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.สาขากรุงเทพ โดยการโอนขายธุรกิจดังกล่าวเป็นไปตามความเหมาะสมเชิงกลยุทธ์ระยะยาวของกลุ่มทิสโก้ที่เน้นการให้บริการสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก อีกทั้งบริษัทคำนึงถึงการให้บริการแก่ลูกค้าให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด
ทั้งนี้ จำนวนลูกค้าที่จะทำการโอนขายมีจำนวนประมณ 132,000 ราย แบ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 32,000 ราย และลูกค้าบัตรเครดิตประมาณ 100,000 ราย มูลค่าของสินเชื่อ ณ วันที่ 31 มี.ค.61 มีจำนวนประมาณ 5,700 ล้านบาท เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 3,200 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตจำนวน 2,500 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่โอนขายต่อสินเชื่อทั้งสิ้นเท่ากับ 2.32%
บริษัทคาดว่าการโอนขายลูกหนี้สินเชื่อดังกล่าวจะทำให้อัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสินเชื่อที่โอนขายมีอัตราผลตอบแทนในระดับที่สูง ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญจะปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน อนึ่ง พนักงานในสายงานที่เกี่ยวข้องจะมีการโอนย้ายไปปฏิบัติงานในส่วนงานต่าง ๆ ของกลุ่มทิสโก้ภายหลังจากการโอนขายลูกหนี้เสร็จสมบูรณ์
บริษัทคาดว่าระดับเงินกองทุนของธนาคาร (BIS Ratio) ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
อนึ่ง TISCO เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การโอนขายลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิตให้แก่ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.สาขากรุงเทพ มูลค่าสินทรัพย์โอนขายฯ วันที่ 31 ธ.ค.60 อยู่ที่ 6,900 ล้านบาท
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ในช่วงปลายไตรมาส 1/61 กลุ่มทิสโก้ได้บรรลุข้อตกลงการโอนธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิต ให้แก่ ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. สาขากรุงเทพฯ โดยธุรกิจสินเชื่อบุคคลคาดว่าจะโอนย้ายแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/61 และธุรกิจบัตรเครดิตคาดว่าจะโอนย้ายแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/61
TISCO ยังชี้แจงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,766 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/60 จากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ทุกภาคธุรกิจ ประกอบกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากพอร์ตสินเชื่อที่รับโอนมาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.3% จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวม และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับจากธุรกิจสินเชื่อที่ขยายตัว
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้น 13.3% จากการเติบโตของทุกธุรกิจหลัก รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์เติบโตจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจนายหน้าประกันภัย ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของธุรกิจจัดการกองทุนเติบโตได้ดีในภาวะตลาดทุนที่ผันผวน
กลุ่มทิสโก้ยังคงมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการรับโอนธุรกิจ แต่ยังคงสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ในระดับต่ำที่ 43.1% ทั้งนี้ การตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น 26.2% ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ และการตัดหนี้สูญของสินเชื่อบางกลุ่ม
ส่วนผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/60 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 16.0% สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง 20.3% ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากการหดตัวของพอร์ตสินเชื่อในระหว่างไตรมาส ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลงจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของธุรกิจจัดการกองทุนยังคงสามารถเติบโตได้ดีในภาวะตลาดทุนที่ผันผวน
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มี.ค.61 มีจำนวน 246,530 ล้านบาท ลดลง 1.9% จากสิ้นปี 60 ในภาวะที่ตลาดยังคงมีความแข่งขันสูง อย่างไรก็ดี สินเชื่อหลักของกลุ่มทิสโก้ยังคงเติบโตได้ดี โดยสินเชื่อเช่าซื้อขยายตัว 0.4% ตามอุปสงค์ในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง สินเชื่อจำนำทะเบียนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อ "สมหวัง เงินสั่งได้" ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 9.1% ในไตรมาสที่ผ่านมา ตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่อ
นอกจากนี้ คุณภาพสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับดี ด้วยระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ปรับตัวลดลง และมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) คงที่ที่ 2.3%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.6% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 10.375% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 16.7% และ 4.9% ตามลำดับ
นายสุทัศน์ กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในไตรมาส 2/61 และในช่วงที่เหลือของปี 61 กลุ่มทิสโก้ยังคงเดินหน้าตอบโจทย์ความต้องการด้านการเงินให้กับลูกค้าทุกกลุ่มอย่างครบวงจร ด้วยการเป็นผู้ให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ดีแก่ลูกค้าด้วยบริการ "TISCO Open Architecture" ที่ทำให้กลุ่มทิสโก้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้สิทธิประโยชน์และต่อยอดการบริการให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งกองทุนรวมและแบงก์แอสชัวร์รันส์
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อบ้านทิสโก้ มอร์เกจเซฟเวอร์ (Mortgage Saver) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นตอบโจทย์ให้ลูกค้าสามารถประหยัดดอกเบี้ยและเป็นเจ้าของบ้านได้เร็วขึ้น ช่วยลูกค้าบริหารความมั่งคั่งผ่านกองทุนที่หลากหลายของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ และสินเชื่อทะเบียนรถทุกประเภทผ่าน "สมหวัง เงินสั่งได้"ที่เติบโตได้ตามเป้า รวมถึงเดินตามนโยบายหลักในการให้คำแนะนำด้านการลงทุนที่แม่นยำจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้และการขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่กลุ่มทิสโก้มีความเชี่ยวชาญ