PTT พร้อมเซ็นสัญญาซื้อ LNG ระยะยาวจากแหล่งโมซัมบิกแม้ ก.พลังงานอาจค้าน เหตุราคาดีหนุนแข่งขันได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 18, 2018 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า การทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะยาว จากแหล่งโมซัมบิก ในปริมาณ 2.6 ล้านตัน/ปีนั้น ปตท.สามารถดำเนินการได้เอง แม้หากไม่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงพลังงานก็ตาม แต่ ปตท.จะต้องรับความเสี่ยงในการจำหน่ายเองเพราะตามสัญญาการนำเข้า LNG ระยะยาวก่อนหน้านี้จะเป็นการนำเข้าเพื่อเข้าสู่ระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติรวมของประเทศ โดยเห็นว่าตามข้อตกลงล่าสุดในการซื้อ LNG จากแหล่งโมซัมบิกครั้งนี้ นับว่าได้ราคาดีที่สามารถแข่งขันได้หากมีการนำไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

โดยการจำหน่ายในประเทศนั้น ปตท.สามารถจำหน่ายให้กับบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในกลุ่ม ปตท.ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และยังสามารถจำหน่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นได้ตามราคาตลาดโลก สร้างโอกาสการทำกำไรได้ แต่ก็มีความเสี่ยงจะขาดทุนหากราคาตลาดโลกลดต่ำลงมา

ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ ซึ่งเบื้องต้นเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซฯของ ปตท. (Third Party Access) จากเดิมที่มีเพียง ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซฯเพียงรายเดียว

"หากรัฐบาลไม่ได้อนุมัติทำสัญญาระยะยาว ก็ไม่ได้หมายความว่า ปตท.จะลงนามซื้อก๊าซจากแหล่งโมซัมบิกไม่ได้แต่ ปตท.ก็ต้องรับความเสี่ยงในการจำหน่ายเอง เปลี่ยนจากเดิมที่ ปตท.เคยน้ำเข้าสัญญา long term นั้นซื้อมาเท่าไหร่ก็เอาเข้าระบบ pool gas ราคานี้ ปตท.ไม่ได้กำไร แต่หากเป็นการซื้อระบบใหม่ เมื่อลงนามซื้อจากแหล่งโมซัมบิกแล้ว ปตท.ก็ไม่ต้องขายราคาทุน ขายราคาตามตลาด ราคามีทั้งขึ้นและลง หากราคาสูงปตท.ก็กำไรจากส่วนต่าง แต่หาก ราคาต่ำกว่าทุน ปตท.ก็รับความเสี่ยงเอง ซึ่งด้วยเงื่อนไขที่ดี ก็เชื่อมั่นว่า ปตท.จะสามาถขายทำกำไรได้"นายปิยสวัดิ์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ได้แจ้งต่อ ปตท.ว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอรับซื้อ LNG จากแหล่งโมซัมบิกเพื่อนำเข้ามาเป็นข้อตกลงของรัฐบาลในการจัดทำเป็นระบบสัญญาระยะยาว โดยเห็นว่าการนำเข้า LNG ในอนาคตควรเป็นรูปแบบแข่งขันเสรีทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำสุด จึงจะไม่มีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขออนุมัติแต่อย่างใด

ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุญาตให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี และเริ่มจัดหาภายในปี 61 ขณะที่กลุ่มกัลฟ์ฯ ก็สนใจที่จะขอเป็นผู้นำเข้า LNG ด้วยเช่นกันแต่ยังไม่ได้รับอนุญาต โดยต้องรอรอบการเปิดอนุมัตินำเข้า LNG รอบใหม่หลังคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี จะเปิดดำเนินการในไตรมาส 1/65 โดยเงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดคือผู้นำเข้าจะต้องมีสัญญาจำหน่ายก๊าซฯที่ชัดเจนกับโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ด้วย

สำหรับการนำเข้า LNG จากแหล่งโมซัมบิกนั้น จะมาจากโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ปัจจุบันบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ถือหุ้นอยู่ 8.5% โดยแหล่งดังกล่าวมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากกว่า 75 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาสัญญาซื้อขาย LNG ซึ่งล่าสุด Electricite de France, S.A. (EDF) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านไฟฟ้าแบบครบวงจรของประเทศฝรั่งเศส ได้ลงนามสัญญาซื้อ LNG จากแหล่งดังกล่าวในปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี เป็นเวลา 15 ปี และอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มลูกค้าจีน ,อินเดีย และญี่ปุ่น รวมถึงปตท.ที่ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนตอบรับสัญญาซื้อขายดังกล่าว

โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ได้รับการอนุมัติแผนพัฒนาโครงการจากรัฐบาลโมซัมบิกแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision:FID) ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 66 มีกำลังการผลิตระยะแรก 12 ล้านตัน/ปี

ทั้งนี้ ปตท.ได้รายงานต่อกระทรวงพลังงานว่า ราคา LNG ที่ตกลงกับแหล่งโมซัมบิกล่าสุดเป็นราคาที่ดีมาก ต่ำกว่าสัญญาการซื้อ LNG ระยะยาวทุกแหล่งที่ไทยทำสัญญานำเข้ามาแล้ว โดยสามารถเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตในราคาลดลงจากที่เคยเจรจากันไว้กว่า 2 ดอลลาร์/ล้านบีทียู เหลือประมาณ 7.43 ดอลลาร์/ล้านบีทียู โดยสัญญามีอายุ 20 ปี นับตั้งแต่ปี 66-67 เป็นต้นไป โดย ปตท.เห็นว่าการตกลงราคาในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ แต่หลังจากนี้ไปอีก 3-4 ปีข้างหน้าตลาดจะเป็นของผู้ขาย ในขณะเดียวกัน การนำเข้าก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรี และยังเป็นการรองรับอนาคตการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมาที่จะลดลง

ปัจจุบัน ปตท.มีสัญญาซื้อ LNG ระยะยาวจากกาตาร์ จำนวน 2 ล้านตัน/ปี ,เชลล์ 1 ล้านตัน/ปี ,บีพี 1 ล้านตัน/ปี และเปโตรนาส นำเข้าในช่วงปี 60-61 ในปริมาณรวม 1 ล้านตัน/ปี และตั้งแต่ปี 62 ในปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ