นายเอเดรียน ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไรมอน แลนด์ (RML) เปิดเผยว่า ยอดขายในช่วงไตรมาส 1/61 ที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าเกิน 1 พันล้านบาท จากการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียม เดอะลอฟท์ สีลม มูลค่า 4 พันล้านบาท อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากทยอยขายบางส่วนในปี 60 ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวทำยอดขายได้แล้ว 70%
อีกทั้งยังมียอดขายต่อเนื่องจากโครงการคอนโดมิเนียมเดอะ ลอฟท์ อโศก ซึ่งมียอดขายแล้ว 75% และมียอดขายโครงการคอนโดมิเนียม 185 ราชดำริเข้ามาเสริม โดยขณะนั้เหลืออีกเพียง 1 ห้อง คาดว่าจะปิดการขายได้ภายในปีนี้
ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่น คือ บริษัท โตเกียว ทาเทโมโนะ เป็นโครงการระดับไฮเอนด์ ซึ่งในช่วงไตรมาส 3/61 จะเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมย่านสุขุมวิทใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพร้อมพงษ์ มูลค่า 4.9 พันล้านบาท และในไตรมาส 4/61 จะเปิดขายคอนโดมิเนียมย่านสาทร ซอย 12 มูลค่า 4.2 พันล้านบาท เชื่อว่าจะเข้ามาสนับสนุนให้ยอดขายรวมปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 พันล้านบาท
สำหรับรายได้รวมของบริษัทในปีนี้มีแนวโน้มที่ต่ำกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 3 พันล้านบาท เนื่องจากมีกำหนดโอนโครงการคอนโดมิเนียมเข้ามาไม่มาก ช่วงปลายปีนี้มีเพียงโครงการ"เดอะ ลอฟท์ อโศก"จะเริ่มโอนเข้ามาเพียงโครงการเดียว จึงจะรับรู้รายได้บางส่วนในช่วงปลายปีนี้ ประกอบกับ รายได้จากธุรกิจใหม่ภายใต้การร่วมทุน เช่น ธุรกิจร้านอาหารบ้านหญิงในสิงคโปร์ที่เปิดไปแล้ว 2 สาขา ยังรับรู้เข้ามาไม่เต็มที่
อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าจะเห็นการฟื้นตัวของรายได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62 เนื่องจากจะมีการโอนโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นกว่าปีนี้ โดยขณะนี้บริษัทมียอดขายรอโอนราว 4 พันล้านบาท กำหนดทยอยรับรู้รายได้ในช่วงปี 61-62 และบริษัทจะรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่ที่ลงทุนไปอย่างเต็มที่
นายลี กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring income) ให้เป็น 30% ในอีก 5 ปี หรือภายในปี 66 จากปัจจุบันมีสัดส่วนต่ำกว่า 5% โดยบริษัทอยู่ระหว่างมองหาทำเลพัฒนาโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ โดยเบื้องต้นมีแผนจะสร้างเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ระดับไฮเอนด์ร่วมกับแบรนด์ชื่อดัง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าย่านเพลินจิตพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร มูลค่า 6 พันล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้ โดยจะยื่นแบบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในเดือน มิ.ย.นี้ และคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 64 หรือภายในปี 65
ด้านฐานะทางการเงินของบริษัทยังแข็งแกร่งและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1 เท่า ในขณะที่ยังมีวงเงินในการออกหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติไว้เหลืออีก 2.2 พันล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 4.5 พันล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมูลค่า 500 ล้านบาท จึงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะออกหุ้นกู้ใหม่มาชดเชยหุ้นกู้ชุดเดิมหรือไม่
นายลี กล่าวต่ออีกว่า ในช่วง 5 ปีจากนี้บริษัทมองโอกาสการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์นอกกรุงเทพฯ โดยทำเลที่สนใจและกำลังอยู่ระหว่างศึกษา คือ พื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมองว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต เพราะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าไปเริ่มลงทุน แต่บริษัทคงต้องมีการศึกษาการลงทุนอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนจริงจัง รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ ภูเก็ต สมุย และ หัวหิน ก็มีโอกาสความเป็นไปได้ที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการ
นอกจากนี้ บริษัทยังมองไปถึงการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการร่วมพัฒนากับพันธมิตรจากญี่ปุ่น คือ บริษัท โตเกียว ทาเทโมโนะ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นความร่วมมือกับพันธมิตนญี่ปุ่นจะร่วมกันพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ปีละ 2 โครงการ ส่วนมูลค่าโครงการขึ้นอยู่กับแต่ละทำเล แต่ยังคงเป็นคอนโดมิเนียมไฮเอนด์ ราคาขายเริ่มต้น 10 ล้านบาท
นายลี กล่าวอีกว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยหลังจากที่ผ่านไตรมาส 1/61 ไปแล้ว มองว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ยังคงต้องเผชิญปัญหากับจำนวนสต็อกที่มีอยู่มาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม และส่วนใหญ่เป็นโครงการระดับล่างที่มีปัญหาการปฏิเสธสินเชื่ออยู่สูง ทำให้ไม่สามารถโอนได้ จึงยังคงเป็นสต็อกที่เหลือขาย ส่งผลให้ปีนี้ผู้ประกอบจะไม่เร่งการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่มากขึ้น และยังคงเป็นปีของการทยอยระบายสต็อก
ในส่วนของบริษัทไม่มีความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นโครงการที่จับกลุ่มระดับบนที่มีกำลังซื้อ และอยู่ทำเลที่มีศักยภาพ และไม่มีปัญหาความเสี่ยงในด้านการโอน ที่ผ่านมามีอัตราการโอน 98% และลูกค้าของบริษัทไม่มีความเสี่ยงด้านการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และบริษัทเก็บเงินดาวน์สูงถึง 25% แต่บริษัทคงยังไม่รีบการเปิดโครงการใหม่มาก เพราะต้องการระบายสต็อกที่มีอยู่ราว 5 พันล้านบาทก่อนที่จะกลับมารุกการเปิดโครงการใหม่เพิ่มมากขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RML ยังกล่าวถึงกรณีที่ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) ขายหุ้นที่ถืออยู่ใน RML จำนวน 375 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.49% ของทุนจดทะเบียนให้แก่นายจิรวุฒิ คุวานันท์ ทำให้นายจิรวุฒิถือหุ้นใน RML เพิ่มเป็นเกือบ 20% จากเดิม 8.81% และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2 รองจาก JS ASSET MANAGEMENT PTE. LTD. ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 24.98%
ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใน RML จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหาร และแผนงานต่าง ๆ โดยมองว่าการนายจิรวุฒิจะเป็นการช่วยส่งเสริมศักยภาพการเติบโตให้กับบริษัท และเชื่อว่านายจิรวุฒิความเชื่อมั่นบริษัทในการเติบโตของผลการดำเนินงานในอนาคต ทำให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนใน RML เพิ่มขึ้น และไม่คิดว่าจะเป็นการเข้ามาเพื่อหวังซื้อกิจการของ RML
นายสถาพร อมรวรพักตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน RML กล่าวเสริมว่า นายจิรวุฒิ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และในอดีตเมื่อ 3 ปีก่อนเคยเข้ามารับตำแหน่งเป็นกรรมการและกรรมการอิสระในบริษัท ก่อนที่จะออกไป แต่ยังถือหุ้นใน RML อยู่ และนายจิรวุฒิ เป็นนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนเฉพาะแค่ RML เพียงบริษัทเดียว แต่ยังถือหุ้นในบริษัทอื่นๆในตลาดหลักรัพย์ด้วย