นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) แหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 หากที่ประชุมอนุมัติก็พร้อมที่จะออกประกาศเชิญชวนประมูลในวันถัดมา (24 เม.ย.) ซึ่งคาดหวังว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้ความสนใจหลายราย รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตในตะวันออกกลางด้วย
ทั้งนี้ วางเป้าหมายการประมูลของแหล่งปิโตรเลียมในครั้งนี้ ต้องการที่จะเปิดกว้างให้การแข่งขันซึ่งจะมี 2 ส่วน คือราคาก๊าซธรรมชาติ และส่วนแบ่งกำไรที่จะให้กับรัฐ โดยจะให้น้ำหนักกับเรื่องราคาก๊าซฯมากสุดในระดับ 65% ส่วนข้อเสนอส่วนแบ่งกำไรให้ไว้ที่ระดับ 25%
นอกจากนี้ยังจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประมูลต้องรับรองการใช้บุคลากรสัญญาติไทยไม่น้อยกว่า 80% ซึ่งหากมีผู้ใดเสนอใช้บุคลากรสัญญชาติไทยมากกว่า 80% ก็จะให้คะแนนพิเศษ รวมถึงการผลิตปิโตรเลียมจะต้องมีความต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ได้รับสัญญา โดยการผลิตจากแหล่งเอราวัณ จะอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และแหล่งบงกช จะอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
ขณะที่ในส่วนปริมาณการผลิตที่เป็นรูปแบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่รัฐบาลมีส่วนการเป็นเจ้าของทั้งทรัพยากรและทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตนั้น ก็จะมีหลักการรัดกุมที่ต้องใช้บริการที่มีในประเทศไทยเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องที่รัฐบาลจะได้ส่วนแบ่งผลกำไรเท่าไหร่นั้น ขึ้นกับขีดความสามารถของผู้ประกอบการเองที่จะสามารถผลิตได้ตามประสิทธิภาพ แต่ตามกฎหมายผู้ประกอบการจะต้องเสนอส่วนแบ่งกำไรให้กับรัฐไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งในเงื่อนไขการแบ่งส่วนแบ่งกำไรให้รัฐไม่ว่าจะเป็น 50% หรือมากกว่า 50% เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการแข่งขันและคัดเลือกผู้ชนะในการประมูลด้วย
"เกณฑ์การประมูลจะมีการเปิดเผยใน TOR ด้วย เรานำเสนอว่าจะให้น้ำหนักข้อเสนอด้านราคาสูงกว่า ข้อเสนอด้านราคาก๊าซฯที่ไม่สูงกว่าปัจจุบัน ใครเสนอถูกเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั้งเรื่องราคาไฟฟ้า และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม...เราจะคัดเลือกเฉพาะคนที่มีความสามารถสูง สามารถเสนอแผนงานที่น่าเชื่อถือได้ มีแผนการลงทุนให้ความมั่นใจกับเราว่าสามารถดำเนินการตามแผนที่เสนอมาได้ในครั้งนี้"นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การประชุมกพช.ครั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)จะเสนอรูปแบบการจัดทำโครงสร้างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) โดยมีกระบวนการจัดทำที่เปิดกว้างขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้นในแต่ละภาค เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของกำลังการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้าของแต่ละภาค เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนที่ยังมีความสุ่มเสี่ยงทั้งในเรื่องโซลาร์ หรือลม ซึ่งการวางแผนจะนำองค์ประกอบเหล่านี้มาพิจารณาตามรายภาคด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาจัดทำแผน PDP จนเป็นร่างแผนที่พร้อมนำเสนอเพื่อเปิดรับฟังความห็นนั้นจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.นี้