นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออล์ (CPALL) เปิดเผยว่า ในปี 61 จะใช้เงินลงทุนรวม 9,000-10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ในการเปิดสาขาใหม่ 3.6-3.8 พันล้านบาท ใช้ปรับปรุงร้านเดิม 2-2.1 พันล้านบาท, พัฒนาโครงการใหม่ในบริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 3.1-3.2 พันล้านบาท
ในส่วนการขยายสาขาใหม่นั้น บริษัทจะเลือกทำเลที่ตั้งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่นสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอย่างมั่นคง โดยมีเป้าหมายหลักของการขยายเครือข่ายร้านสาขาที่สอดคล้องไปกับการขยายตัวของชุมชนเมือง ทั้งหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง แนวโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ ในรูปแบบการร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจ เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล และสถานศึกษา เป็นต้น เพื่อเปิดร้านสาขาในโครงการคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย และทำเลที่มีกลุ่มลูกค้ารายได้สูง
นอกจากนี้ บริษัทจะลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในร้านเพื่อสร้างประสบการณ์ในการจับจ่ายใช้สอยที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และการก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยมีการพัฒนาร้านค้าที่ทันสมัย รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาอำนวยความสะดวก เช่น เมนูแสดงรายการอาหารพร้อมภาพ (Digital Menu Board), จุดชำระสินค้าแบบ Self Check Out, ตู้ 24 Shopping รวมไปถึงด้านการประหยัดพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นจุดแข็งที่ทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น อย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 11.8 ล้านคน/วัน
ส่วนแนวโน้มยอดขายในปีนี้ นายก่อศักดิ์ คาดว่า จะยังคงเติบโตมากกว่าปีก่อนที่เติบโตไปราว 8% หรือมียอดขายรวมอยู่ที่ 4.71 แสนล้านบาท จากการขยายสาขาร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่เพิ่มขึ้นอีก 700 สาขา และยอดขายจากสาขาเดิมของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมายังคงเติบโตได้ดี โดยยังมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในประเทศที่ 65%
ขณะที่สาขาแมคโครภายใต้ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ยังคงสร้างยอดขายได้ดีทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีศูนย์จำหน่ายสินค้าในประเทศรวมทั้งสิ้น 123 สาขา และมีในกัมพูชา 1 สาขา นอกจากนั้น แมคโครยังมีธุรกิจนำเข้า ส่งออก และจำหน่ายสินค้าแช่แข็งและแช่เย็น พร้อมบริการด้านการจัดเก็บและจัดส่งในประเทศไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นายก่อศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์จำหน่ายสินค้าของแมคโครในระยะต่อไปจะเน้นการพัฒนาระบบเพื่อรองรับธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางออนไลน์ และการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายศูนย์จำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ โดยมีประเทศเป้าหมาย คือ อินเดีย และจีน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทางการศึกษาความเป็นไปได้พร้อมกับมองหาพันธมิตรในท้องถิ่นเพื่อสร้างความได้เปรียบไนการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง
ส่วนแผนการทยอยขายหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ออกไปอีกบางส่วนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเองหุ้นให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นั้น CPALL ยังคงมีแผนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน MAKRO ลดลงอีก แต่นโยบายจะยังถือหุ้นมากกว่า 51% เพื่อควบคุมอำนาจการบริหารอย่างเต็มที่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาปลายเดือน มี.ค.บริษัทได้ขายหุ้น MAKRO ออกไปแล้ว 4.8% ทำให้เหลือสัดส่วนถือหุ้น 93%
อย่างไรก็ตาม บริษัทแต่มองว่าการขายหุ้น MAKRO ออกไปยังไม่จำเป็นต้องรีบ โดยอาจทยอยขายออกไปตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสม คาดว่าจะมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ CPALL มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) และธุรกิจอื่นๆอยู่ที่ 64% และมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากแมคโคร ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเองอยู่ที่ 36%
นายก่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในปี 61 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ 4.1% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่สนับสนุนให้การส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้น อีกทั้งคาดว่าจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
ขณะที่การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงความชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งใหม่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นใหมเกิดการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยให้ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปีนี้ตามที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดการณ์มูลค่าตลาดค้าปลีกจะขยายตัวได้ 3.6-3.8% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท โดยที่การรักษาความสามารถในการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในปีนี้นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะการผลักดันให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลและสังคมไร้เงินสด ซึ่งจะเป็นการชำระค่าสินค้าในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น
พร้อมกันนั้นจะต้องการปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งผู้บริโภคต้องการความสะดวกรวดเร็ว สามารถเข้าถึงข้อมูล ซื้อสินค้าและชำระค่าสินค้าและบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ที่สะดวก ทำให้ตลาดออนไลน์และการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (E-commerce) มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้ผสมผสานกับร้านค้าแบบเดิมที่มีหน้าร้าน เป็นช่องทางที่เพิ่มความสะดวกและมีความรวดเร๊วในการซื้อขายและชำระเงิน เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและประทับใจให้กับลูกค้า