นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า บริษัทได้แสดงเจตจำนงในการต่อสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ที่จะหมดอายุสัมปทานภายในปี 63 ต่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยขอต่อายุสัญญา 10 ปีแรก และอีก 10 ปีต่อจากนั้น ตามที่ระบุสิทธิของบริษัทไว้ในสัญญาที่สามารถขอต่ออายุสัญญาได้ ขณะนี้บริษัทรอดำเนินการเจรจากับ กทพ.ซึ่งขั้นตอนอยู่กระบวนการพิจารณาของ กทพ.เบื้องต้นคาดว่าในปี 62 จะสามารถชี้แจงรายละเอียดได้
ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวไม่ถือเป็นความเสี่ยงหรือข้อวิตกแต่อย่างใด เนื่องจากก่อนที่บริษัทจะเซ็นสัญญาสัปทานนั้นได้รับรู้แล้วว่าอายุสัมปทานจะหมดอายุในปี 63 จึงได้เตรียมแผนป้องกันความเสี่ยงด้วยการเสนอและได้รับสัปทานเพิ่ม คือ ทางด่วนศรีรัช -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.55
"เรารู้อยู่แล้วว่าทางด่วนเส้นนี้มีอายุสัมปทาน 30 ปี เรารู้อยู่แล้ว เพราะรายได้จากทางด่วนมีสัดส่วน 65% เราได้จัดการความเสี่ยงมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วเราเสนอตัวและได้รับสัมปทานทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ และเราก็ได้แสดงเจตจำนงไปกทพ.ต่ออายุ 10+10 ปี. ระหว่างนี้อยู่กระบวนการของ กทพ. เราไม่มีอะไรกังวลใจ"นางพเยาว์ กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561
ขณะที่ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น BEM วันนี้อนุมัติด้วยคะแนน 99.9029% ให้บริษัทดำเนินการขายหุ้นบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 201,457,499 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 7.50% ของทุนจดทะเบียนให้แก่ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) มูลค่า 2,065 ล้านบาท โดย BEM ถือหุ้นไซยะบุรีฯมาตั้งแต่ปี 56
การขายหุ้น XPCL ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดไว้เป็นเงินทุนส่วนหนึ่งของการลงทุนโครงการต่างๆที่ภาครัฐกำลังเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลทั้งระบบรางและทางพิเศษ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และการขายครั้งนี้ BEM ได้กำไรประมาณ 300 ล้านบาท หรือ ประมาณ 17% โดยบริษัทสามารถบันทึกรับรู้กำไรได้ทันที หรือในไตรมาส 2/61
ทั้งนี้ ราคาขาย 2,065 ล้านบาทเป็นราคายุติธรรมที่ประเมินโดยที่ปรึกษาการเงินอิสระ ตามวิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสดเป็นวิธีประเมินมูลค่ายุติธรรมที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และเป็นราคาที่เจรจาต่อรองแล้วจึงเป็นราคาสมเหตุสมผล
"ราคาขายไซยะบุรี เราได้รวมรายได้ในอนาคตไว้แล้ว คิดแล้วขายออกไปได้กำไรประมาณ 300 ล้านบาท คิดเป็น 17%"นางพเยาว์กล่าว
ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาอิสสระระบุว่า ราคาขายหุ้น XPCL เป็นราคาสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีในปัจจุบันที่มี 1,564 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น BEM ยังพิจารณาอนุมัติด้วยคะแนน 99.9303% ให้บริษัทเข้าทำสัญญาว่าจ้าง บมจ. ช.การช่าง (CK) เป็นผู้บริหารงานซ่อมบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา และไฟฟ้าเครื่องกลของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน วงเงินรวม 2,777.70 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
โดยบริษัทเป็นผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยในสัญญาสัมปทาน กำหนดให้บริษัทมีหน้าที่ออกแบบ จัดหา และติดตั้ง รวมถึงทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินรถไฟฟ้า อีกทั้งการให้บริการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษางานโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา (ยกเว้นอาคารจอดรถ) และอุปกรณ์งานระบบ ซึ่งคาดจะเปิดให้บริการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกันภายในเดือน มี.ค.63
ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการงานซ่อมบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา และระบบไฟฟ้าเครื่องกลของโครงการดังกล่าว เพื่อให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามสัญญาเงื่อนไขของสัมปทาน บริษัทจึงมีความประสงค์ที่จะว่าจ้าง CK ให้เป็นผู้บริหารงานซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา และเครื่องกลไฟฟ้า