ฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิต BTS ที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ และยกเลิกอันดับเครดิต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 23, 2018 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ BTSC ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตยังคงเป็นลบ

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตดังกล่าวของ BTS และ BTSC รวมถึงหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ BTSC ตามแผนการพัฒนาธุรกิจของฟิทช์ ดังนั้นฟิทช์จะไม่ติดตามและวิเคราะห์อันดับเครดิตของบริษัทฯ ต่อไป

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินที่สูง – แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า อัตราส่วนหนี้สิน โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ BTS จะอยู่ในระดับสูงที่ระดับ 9-11 เท่า ในช่วงปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2561 (ปีงบการเงิน 2561) - ปีงบการเงิน 2563 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6 เท่าในปีงบการเงิน 2565 โดยเป็นผลมาจากการกู้ยืมเพื่อลงทุนในธุรกิจขนส่งมวลชน ได้แก่ โครงการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) สำหรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการชำระเงินค่าหุ้นในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง

นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สิน แหล่งของกระแสเงินสดที่ใช้ในการลดอัตราส่วนหนี้สิน ประกอบด้วย เงินสดรับจากการขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีงบการเงิน 2561- ปีงบการเงิน 2562 เงินสดรับจากโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลในปีงบการเงิน 2564 และรายได้ค่าบริหารการเดินรถสำหรับรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะได้รับในอนาคต หากกระแสเงินสดรับมีความล่าช้าหรือต่ำกว่าที่ฟิทช์คาด อาจส่งผลให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าออกไปในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มั่นคง – หลังจากการโอนขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประมาณร้อยละ 90-95 ของรายได้รวมของ BTS จะมาจากธุรกิจขนส่งมวลชนและสื่อโฆษณานอกบ้าน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดที่สูงและค่อนข้างมั่นคง รายได้จากธุรกิจสื่อส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากสื่อที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟฟ้า BTS ในขณะที่ธุรกิจขนส่งมวลชนมีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอนจากสัญญาจ้างบริหารการเดินรถที่มีการกำหนดอัตราค่าบริการล่วงหน้าสำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว นอกจากนี้ BTS ยังมีกระแสเงินสดรับที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจากเงินปันผลจากการถือหน่วยลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 33.3 ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบนรายได้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวหลัก

ขนาดธุรกิจและตำแหน่งทางการตลาดที่ใหญ่ขึ้น – BTS มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยรองรับผู้โดยสารกว่าร้อยละ 65 ของผู้โดยสารทั้งหมดในระบบขนส่งมวลชนแบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามข้อมูลของบริษัทฯ ณ เดือนธันวาคม 2560 การขยายธุรกิจและการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้น จากเส้นทางการเดินรถของบริษัทฯ ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น รายได้การให้บริการเดินรถและกำไรที่เพิ่มขึ้น การขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีชมพู และสีเหลือง ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มระยะทางการเดินรถเป็น 132 กิโลเมตร จากปัจจุบันที่ 38 กิโลเมตร แต่ยังเป็นการส่งผู้โดยสารจากพื้นที่กรุงเทพรอบนอกซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยเข้ามายังระบบรถไฟฟ้าสายเดิมของ BTS และยังเป็นการขยายพื้นที่สื่อโฆษณาบนระบบรถไฟฟ้าอีกด้วย

ฟิทช์คาดว่า BTS จะมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจขนส่งมวลชน (รวมถึงเงินปันผลรับจาก BTSGIF) เพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านบาทในปีงบการเงิน 2565 จาก 2 พันล้านบาทในปีงบการเงิน 2560 โดยส่วนใหญ่มาจากค่าจ้างบริหารการเดินรถของรถไฟฟ้าสายใหม่ ถึงแม้ว่า BTSC จะไม่ได้เป็นผู้รับสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง แต่ BTSC ได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารการเดินรถ และจะได้รับค่าจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ล่วงหน้าตามสัญญา

BTS และ BTSC มีอันดับเครดิตที่เท่ากัน – ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตโดยมองภาพรวมทั้งกลุ่มบริษัท จากการที่บริษัทแม่และบริษัทลูกมีความสัมพันธ์ที่สูงทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านกลยุทธ์ ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่องความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก

อันดับเครดิตของ BTS และ BTSC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่และธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านในประเทศไทย ซึ่งชดเชยกับอัตราส่วนหนี้ที่อยู่ในระดับสูงที่ใช้เพื่อการลงทุนในธุรกิจขนส่งมวลชน เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) (TASCO, A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) BTS ประกอบธุรกิจในภาคการขนส่งมวลชนที่มีเสถียรภาพมากกว่า ซึ่งสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินที่สม่ำเสมอและมีอัตรากำไรที่สูงกว่า TASCO อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกในช่วงระยะสั้นนี้ถูกลดทอนด้วยสถานะการเงินที่ค่อนข้างอ่อนแอจากการขยายธุรกิจขนส่งมวลชน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงและใช้ระยะเวลาคืนทุนนาน

เมื่อเปรียบเทียบ BTS กับบริษัทอื่นที่จัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอเนื่องจากอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันไม่มากนัก ได้แก่ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS, A+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC, A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ทั้งสองบริษัทมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า BTS เนื่องจากมีระดับความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำกว่า

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) อยู่ที่ระดับร้อยละ 30-35 สำหรับ BTS Group และร้อยละ 38-46 สำหรับ BTSC ในช่วงสามปีข้างหน้า
  • รายได้ค่าจ้างบริหารการเดินรถเพิ่มขึ้น โดยส่วนต่อขยายสายสีเขียวเริ่มต้นรับรู้รายได้ในปีงบการเงิน 2561 สายสีชมพูและสีเหลืองเริ่มต้นรับรู้รายได้ในปีงบการเงิน 2565
  • เงินสดรับสุทธิจากธุรกรรมการโอนขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 7.0 พันล้านบาท ได้รับในปีงบการเงิน 2561 และปีงบการเงิน 2562
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท สำหรับ BTS Group และ 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับ BTSC ในช่วงห้าปีข้างหน้า ไม่รวมส่วนของเงินลงทุนในโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง
  • BTS Group ชำระค่าหุ้นในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองจำนวน 2.16 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2561-2565
  • จ่ายเงินปันผลในอัตราที่ลดลง ในปีงบการเงิน 2561 เป็นต้นไป เนื่องจากมีการจ่ายเงินปันผลพิเศษครบถ้วนแล้วในปีงบการเงิน 2560

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ไม่มีเนื่องจากการยกเลิกอันดับเครดิต

สภาพคล่องที่เพียงพอ: สภาพคล่องของ BTS Group ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสด (ได้รับการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2560 ซึ่งเพียงพอชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิของ BTS จะติดลบในช่วงปีงบการเงิน 2561-2563 โดยกระแสเงินสดส่วนนี้ได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (uncommitted) จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท และเงินลงทุนอื่น (ส่วนใหญ่เป็นตราสารทุนพร้อมขาย) จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท (ได้รับการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) ณ สิ้นปีงบการเงิน 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ