นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) เปิดเผยว่า กองทุน DIF จะลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมมูลค่ารวมประมาณไม่เกิน 55,236 ล้านบาท ด้วยการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ไม่เกิน 3,831 ล้านหน่วย มูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่เสนอขายทั้งหมดไม่เกินประมาณ 53,236 ล้านบาท และกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ที่ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุน DIF ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.60 ซึ่งจะระดมเงินมาลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ประเทศ รองรับความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ตและระบบบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนมาใช้ระบบ 4G LTE และการติดตั้งระบบ 5G ในอนาคต ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 และระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล
การลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 3 จะทำให้กองทุน DIF มีขนาดทรัพย์สินที่ใหญ่ขึ้นและสามารถขยายการให้บริการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กองทุน DIF มีทรัพย์สินที่จะสามารถสร้างรายได้จากการให้เช่าเสาโทรคมนาคมและใยแก้วนำแสงเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน กองทุน DIF จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 60-65 คาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการระบบ 4G จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการระบบ 4G สูงถึงร้อยละ 76 ในปี 65 (ตามรายงานของ Analysys Mason) ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการความต้องการเช่าเสาโทรคมนาคมและใยแก้วนำแสงที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีผู้เช่ารายอื่น
นายสมิทธ์ กล่าวว่า จุดเด่นของกองทุน DIF คือ มีการปันผลที่สม่ำเสมอและอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง โดยมีการประมาณการว่ากองทุนจะสามารถปันผลได้ 1.04 บาทต่อหน่วย ภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่มีการลงทุนเพิ่ม และประมาณการผลตอบแทนจากการลงทุนที่ร้อยละ 7.48ขณะเดียวกันกองทุนยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จากจำนวนผู้เช่าที่เข้ามาเพิ่มขึ้น และผู้เช่าหลักหรือกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ก็จะมีการต่อสัญญาเช่าเพิ่มเติมอีก เนื่องด้วยภายหลังการได้มาซึ่งทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ลงทุนเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 เสร็จสิ้น ระยะเวลาการเช่าสำหรับทรัพยสินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมบางประการจะถูกขยายอายุการเช่าไปจนถึงปี 76 และบางส่วนจะถูกขยายออกไปนานกว่านั้น แต่ไม่เกิน ปี 86 ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของกองทุนภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวจะเป็นพื้นฐานซึ่งช่วยให้กองทุนสามารถจัดสรรผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยมีระยะเวลาการเช่าตามสัญญาเฉลี่ย 20 ปี
นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะมีการเจรจากับผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มทรู เพื่อเข้าลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอีกด้วย เพื่อสร้างกระแสรายได้ของกองทุนเติบโตขึ้น
ส่วนการโรดโชว์แก่นักลงทุนสถาบันที่ผ่านมา ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างมาก จากผลตอบแทนในระดับร้อยละ 7.48 ทำให้เป็นที่น่าสนใจแก่นักลงทุนสถาบันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มประกันชีวิต, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นต้น และเชื่อว่าหลังจากที่มีการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนรายย่อยในวันพรุ่งนี้ ก็น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน โดยสัดส่วนการถือหุ้นในกองทุนปัจจุบัน แบ่งเป็น นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 10%, นักลงทุนสถาบันในประเทศ 24%, กลุ่มทรู 28% และที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สาย Primary Distribution ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน Sole Global Coordinator และผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า กองทุน DIF จะลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมจากกลุ่มทรู ได้แก่ 1.กรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 2,589 เสา 2. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตรวมประมาณ 590,305 คอร์กิโลเมตร และ 3.สิทธิการเช่าระยะยาวประมาณ 30 ปีในใยแก้วนำแสงสำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตประมาณ 619,986 คอร์กิโลเมตร รวมทั้งสิทธิการซื้อ (Call Option) ใยแก้วนำแสงดังกล่าว โดยมีราคาใช้สิทธิสำหรับซื้อกรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง 1,300 ล้านบาท
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาอนุมัติการเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นที่เรียบร้อย จึงได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นของหน่วยลงทุนใหม่ที่ 13.60-13.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเสนอขายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน (Record Date) เมื่อวันที่ 17 เม.ย.61 ตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน (Preferential Public Offering) และจะเสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไปโดยในส่วนที่เป็นนักลงทุนรายย่อยจะมีการจัดสรรโดยวิธี Small Lot First
ทั้งนี้ นับจากจัดตั้งกองทุนเป็นต้นมา กองทุน DIF มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นมาตลอด โดยในปี 57-60 ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลต่อหน่วยลงทุน (DPU) ที่ประมาณ 0.94 0.95 0.96 และ 0.98 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สอดคล้องกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ที่มีแนวโน้มเติบโตด้วยเช่นเดียวกันโดยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ณ สิ้นปี 56-60 อยู่ที่ 10.0471, 12.4161, 12.3241, 14.6191 และ 15.5630 บาทต่อหน่วยตามลำดับ
นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีม Markets Sales and Product Solutions สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า หลังการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 แล้วเสร็จ กองทุน DIF จะมีทรัพย์สินประกอบด้วย กรรมสิทธิ์และสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม 15,271 เสา กรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาว และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงประมาณ 2.6 ล้านคอร์กิโลเมตร และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต ซึ่งจะเพิ่มความหลากหลายของทรัพย์สินและรองรับการใช้งานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้ทรัพย์สินของกองทุน DIF มีอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักยาวนานขึ้น โดยจะมีอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักประมาณ 20 ปี ส่งผลให้สามารถรับรู้รายได้ภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้กองทุน DIF สามารถจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ หลังจากที่กองทุน DIF ลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 แล้ว เชื่อว่าจะไม่เกิด Earning Dilution Effect ที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินปันผลต่อหน่วยลงทุนที่ลดลง เนื่องจากกองทุน DIF ลงทุนในทรัพย์สินที่สามารถนำไปจัดหาผลประโยชน์โดยการปล่อยเช่าให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพื่อสร้างรายได้ให้กองทุน DIF ได้ทันที ซึ่งจากประมาณการเงินปันผลต่อหน่วยลงทุน (ตั้งแต่ 1 ก.ค.61-30 มิ.ย.62) จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1.04 บาทต่อหน่วย เทียบกับเงินปันผลต่อหน่วยลงทุนในปี 60 ที่ 0.98 บาทต่อหน่วย โดยจะส่งผลดีต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายประเสริฐ ดีจงกิจ SVP ผู้จัดการ ฝ่ายทุนธนกิจ สายวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศกล่าวว่า การเพิ่มทุนจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่กองทุน DIF จากการมีทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่หลากหลายและครอบคลุมการให้บริการด้านโทรคมนาคมแก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่กองทุน DIF มากยิ่งขึ้น
ล่าสุด กองทุน DIF จะมีการจัดโรดโชว์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่นักลงทุนรายย่อยในวันที่ 24 เม.ย.61 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนจะเปิดเสนอขายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ระหว่างวันที่ 2-8 พ.ค.นี้ และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อระหว่างวันที่ 2-11 พ.ค.นี้ (เฉพาะวันทำการ) ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ยกเว้นสาขาไมโครและธนาคารกรุงไทย (KTB) ทุกสาขาทั่วประเทศ
สำหรับผู้จองซื้อทั่วไปจะต้องชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น คือที่ราคา 13.90 บาทต่อหน่วย ส่วนราคาเสนอขายสุดท้ายจะถูกกำหนดหลังจากสำรวจความต้องการจองซื้อของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศอย่างช้าในวันที่ 14 พ.ค.61
ทั้งนี้ หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่า 13.90 บาทต่อหน่วย หรือหากไม่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน นักลงทุนจะได้รับเงินค่าจองซื้อคืนภายใน 7 วันทำการ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือภายใน 10 วันทำการโดยการชำระเป็นเช็คหรือแคชเชียร์เช็คนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขาย (วันที่ 16 พ.ค.61)