นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565-2566 (แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช) โดยให้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูลในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) ตาม TOR การเปิดประมูลระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Product Sharing Contract : PSC) โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขหลักในการประมูลไว้ ดังนี้
1. ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องผลิตก๊าซธรรมชาติปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61
2. ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล
3. ให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ
4. ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน
ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยปัจจุบันทั้ง 2 แหล่ง มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 75% ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย สำหรับกลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565
ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกช มีปริมาณการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า แหล่งพลังงานทั้ง 2 แหล่งมีปริมาณก๊าชธรรมชาติเหลือประมาณ 25-30% ของปริมาณสำรอง ซึ่งทางกรมเชื้อเพลิงพลังงานธรรมชาติประเมินแล้วสามารถผลิตต่อเนื่องใน 10 ปี ภายใต้ปริมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และคาดหวังว่าจะมีผู้ร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย ซึ่ง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จะยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง ขณะที่บริษัทเชพรอนยังมีความสนใจที่ยังจะประมูลแหล่งเอราวัณเพื่อดำเนินการต่อเนื่อง แต่ในแหล่งบงกช ยังไม่ได้รับคำยืนยันว่าจะร่วมประมูลหรือไม่
สำหรับคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้ายื่นประมูล เบื้องต้นกำหนดไว้ว่า สำหรับแหล่งเอราวัณต้องมีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแหล่งบงกช ต้องมีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และต้องมีอัตรากำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
ส่วนขั้นตอนเมื่อมีการประกาศเชิญชวนเอกชนมาลงทุนแล้วจะมีการคัดกรองบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จในสิ้นเดือนพ.ค.61 นี้ และให้เวลาบริษัทที่ผ่านการคัดกรองมาศึกษาข้อมูลแหล่งผลิตต่างๆ เป็นเวลา 4 เดือน จากนั้นจะให้เข้ามายื่นข้อเสนอในปลายเดือน ก.ย.61 ซึ่งกรมเชื่อเพลิงพลังงานจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอ 2 เดือนครึ่ง และจะประกาศบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 2 แหล่งภายในสิ้นเดือนธ.ค.61 และจะลงนามในสัญญาภายในเดือน ก.พ. 62