นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลการหีบอ้อยและการผลิตน้ำตาลของปีการผลิต 2560/61 จนถึงปัจจุบัน พบว่าโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ สามารถหีบอ้อยได้รวมประมาณ 10 ล้านตันแล้ว ซึ่งสูงกว่าปริมาณอ้อยของปีการผลิต 2559/60 ที่มีปริมาณอ้อยรวมประมาณ 8.7 ล้านตัน โดยขณะนี้ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายก็ได้ทะลุ 10 ล้านกระสอบ (1,000 ล้านกิโลกรัม) ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่ได้น้ำตาลประมาณ 9.4 ล้านกระสอบ
ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยและน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณอ้อยทั้งระบบสูงถึง 130 ล้านตัน
"ปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้มีชานอ้อยและใบอ้อยที่จะเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 โรงมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งมีชานอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยมากขึ้น ปริมาณอ้อยจึงส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว
สำหรับสายธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลของกลุ่ม KTIS นั้น ในปี 2561 นี้นับเป็นปีแรกที่จะรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เต็มปีทั้ง 3 โรง ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ (KTBP) และรวมผลไบโอเพาเวอร์ (RPBP) ที่ จ.นครสวรรค์ และไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ (TEP) ที่จ.อุตรดิตถ์
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่ผลิตได้มากขึ้นนี้จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ราคาน้ำตาลในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะน้ำตาลส่วนใหญ่กว่า 70% ของปริมาณที่ผลิตได้ จะส่งออกไปขายต่างประเทศ
"เนื่องจากปีนี้ปริมาณอ้อยมีจำนวนมาก การปิดหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ในบางโรงงาน จะไปปิดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อให้รับอ้อยจากชาวไร่อ้อยได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าปริมาณอ้อยหลังปิดหีบของกลุ่มเราน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 11 ล้านตัน" นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว