นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ (CPF) คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 1/61 จะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจต้นน้ำ (Feed) หรืออาหารสัตว์แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอาหารสัตว์แบรนด์ของบริษัท และธุรกิจปลายน้ำ (Food) หรืออาหารสำเร็จรูป โดยปัจจุบันรายได้ของบริษัทมาจากสัดส่วนของธุรกิจต้นน้ำ 45% และธุรกิจปลายน้ำ 18% รวมเป็น 63%
ขณะที่ธุรกิจกลางน้ำ (Farm) ที่มีสัดส่วนรายได้ราว 37% ก็กลับมามีแนวโน้มดีขึ้น โดยไตรมาส 2/61 ราคาเนื้อหมูทั้งในประเทศไทยและเวียดนามฟื้นตัวขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบเรื่องของราคาในช่วงปี 60 รวมทั้งราคากุ้งก็ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน
"ธุรกิจต้นน้ำของเราแข็งแรง มั่นคงมา 30-40 ปีแล้ว ประกอบกับสินค้าปลายน้ำก็เติบโตดี ...ราคาหมู ที่ไม่ค่อยดีในปี 60 เพราะ over supply แต่วันนี้ราคากลับมาแล้วทั้งในไทยและเวียดนาม ซึ่งวงจรธุรกิจหมูใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ธุรกิจกุ้งเราก็กลับมาดี"นายอดิเรก กล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่าในปีนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพด, สาลี และถั่วเหลือง จะสูงขึ้นราว 3-5% ตามราคาน้ำมันโลก ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกัน
ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากบริษัทมีทั้งการนำเข้าและส่งออก ทำให้ภาพรวมออกมาสมดุลกัน
นายอดิเรก กล่าวอีกว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้มีการทำธุรกิจครบวงจรมากขึ้น รวมถึงมองแนวทางการขยายธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอนาคต ซึ่งแม้ว่ากรณีของแจ๊ค หม่า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ปจะมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก ปัจจุบันได้เริ่มหันมาลงทุนเปิดหน้าร้าน ซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมของธุรกิจเช่นกัน
"บริษัทไม่ได้เป็นรองใคร เราเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว โดยพื้นฐานคุณภาพของ CPF มีครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ถึง ปลายน้ำ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้"นายอดิเรก กล่าว
ด้านนายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม)และประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการสายธุรกิจอาหารสำเร็จรูป (Food) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายจากธุรกิจอาหารแปรรูปเติบโต 5% ต่อปี โดยจะเน้นขยายธุรกิจอาหารแปรรูปเพิ่ม อาทิ เนื้อสัตว์หมัก อาหารแปรรูปชิ้นส่วน ซึ่งจะขยายทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
ก่อนหน้านี้ นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) CPF กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 61 ยอดขายของ CPF จะเติบโต 5-8%จากปี 60 ที่มียอดขาย 5 แสนล้านบาท
ด้าน น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการสายธุรกิจสัตว์น้ำ กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทเข้าไปขยายธุรกิจฟาร์มกุ้งและแปรรูปกุ้งในประเทศบราซิล เนื่องจากการบริโภคกุ้งมากถึง 1 แสนตันต่อปี ภาพรวมเศรษฐกิจดี การผลิตกุ้งยังไม่มาก และได้พันธมิตรที่ดี โดยเบื้องต้นรัฐบาลบราซิลตั้งเป้าขยายการเลี้ยงกุ้งเป็น 1 ล้านตันภายในปี 63 จากปัจจุบันมีการเลี้ยงภาพรวมอยู่ที่ 6 แสนตัน บริษัทจึงมองว่ายังมีโอกาสในการขยายธุรกิจต้นน้ำ หรือธุรกิจอาหารสัตว์
ปัจจุบัน Camanor Produtos Marinhos Ltda. ซึ่งเป็นบริษัทที่ CPF เข้าไปลงทุนขยายธุรกิจเลี้ยงและแปรรูปกุ้งในบราซิล มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3-4 พันตันต่อปี โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 หมื่นตันต่อปี ดังนั้นบริษัทคาดว่าในอนาคตจะมีการขยายโรงงานแปรรูป รวมถึงการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้ง และโครงสร้างต้นน้ำ พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลบราซิลเพื่อขอนำเข้าพันธุ์กุ้งไปเลี้ยง
ขณะที่บริษัทคาดว่ากำลังการผลิตกุ้งในไทยปีนี้ จะอยู่ที่ 3 แสนตัน เติบโต 5-10% จากปีก่อน มองว่าแม้การขยายตัวจะกลับมาช้า แต่ธุรกิจกุ้งจะมั่นคงในอนาคต ส่วนปัจจุบันบริษัทมีฟาร์มเลี้ยงกุ้งอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, อินเดีย และบราซิล
ในวันนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น CPF อนุมัติเพิ่มวงเงินการออกและเสนอขายหุ้นกู้อีกจำนวน 5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 อนุมัติวงเงิน 1 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท. เพื่อสำรองเป็นแหล่งในการระดมทุนระยะยาวสำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และชำระคืนหนี้
นายไพศาล จิระกิจเจริญ ประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน กล่าวว่า บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้อายุ 10 ปีขึ้นไปเพราะต้องการล็อกอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2/61 จะออกหุ้นกู้ จำนวน 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม