นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.มีมติอนุมัติร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ขนาดใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ อายุใบอนุญาต 15 ปี ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค.61
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเข้าประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ ได้กำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซในครั้งก่อน คือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท
ด้านกรอบเวลาการเตรียมการประมูล สำนักงาน กสทช.จะนำประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พ.ค.61 จากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน (IM) รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-14 มิ.ย.61 และกำหนดการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย.61 กสทช.กำหนดจะพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย.-31 ก.ค.61 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 ก.ค.61
หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูล ในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค.61 กสทช.จะจัดชี้แจงขั้นตอนการประมูล (Information Session) และทดสอบการประมูล (Mock Auction) ก่อนที่จะเปิดให้เคาะราคาในวันที่ 4 ส.ค.61 เพื่อให้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กับบมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท.) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.61 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย
นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่จัดให้มีการประมูลแล้ว หากไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล สำนักงาน กสทช. จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลอีกครั้งหนึ่ง หรือจะมีการพิจารณาปรับลดใบอนุญาตให้เล็กลง หรือเหลือใบละ 5 เมกะเฮิร์ตซ จำนวน 9 ใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม กสทช.ให้ตัดสิทธิ บริษัท แจส โมบาย เข้าประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากได้ทิ้งใบอนุญาตในการประมูลครั้งก่อน และเพื่อป้องกันการทิ้งใบอนุญาตอีก ร่างประกาศฉบับนี้ได้ปรับให้มีความเข้มขึ้น โดยสำนักงาน กสทช.จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิตร์ซ เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรบกวนสัญญาณกับคลื่นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอใช้งานกับระบบรถไฟความเร็วสูง กสทช.จึงมีมติให้ชะลอการประมูลออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาดังกล่าว
"เราเชื่อว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน เนื่องจากทุกค่ายยังมีความจำเป็นในการถือครองคลื่นเพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการถือครองคลื่น 55 MHz บ้าง 45 MHz บ้าง แต่จากการประเมินของ ITU ยังคงห่างไกลมาก ซึ่งในประเทศควรมีคลื่นราว 720 MHz เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต"นายฐากูร กล่าว