โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) โดยคาดว่ากำไรและรายได้ในไตรมาส 1/61 น่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า จากรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าระบบรายเดือน (Post-paid) เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี
ส่วนการเข้าประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ในปีนี้ คาดว่า ADVANC น่าจะเข้าไปประมูลใบอนุญาตคลื่นเพื่อนำมารองรับผู้ใช้บริการ โดย ADVANC นับว่ามีกระแสเงินสดที่เพียงพอ และยังมีความสามารถกู้เพิ่มได้อีก จึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาทางด้านการลงทุน
ราคาหุ้น ADVANC อยู่ที่ 207 บาท ลดลง 1.00 บาท (-0.48%) เมื่อเวลา 15.51 น.ขณะที่ SET -0.57%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ทรีนีตี้ ซื้อ 217 เอเชีย พลัส ซื้อ 230 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 218 เคจีไอฯ ซื้อ 220 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 229
นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส คาดว่า ADVANC จะมีกำไรไตรมาส 1/61 เติบโต 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามการเติบโตของรายได้ค่าบริการ (ไม่รวม IC) เติบโต 4.7% โดยมี ARPU เพิ่มขึ้น และรายได้ธุรกิจอินเตอร์เน็ตที่เติบโต รวมถึงการควบคุมต้นทุนโครงข่าย, ค่าใช้จ่ายบริหารให้อยู่ในระดับที่ทรงตัว
นอกจากนี้เชื่อว่ากำไรช่วงที่เหลือของปีจะดีขึ้น จากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง หลังผ่านรอบลงทุนใหญ่ 4G และการบริหารต้นทุนอื่น รวมถึงได้รับแรงขับเคลื่อนจากทุกธุรกิจ ได้แก่ บริการมือถือที่กลับมาแข็งแรงขึ้น และยังมีบริการดิจิทัล สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง, ธุรกิจใหม่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เติบโตได้ จากอัตราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครัวเรือนไทยที่ยังต่ำ และการรับรู้รายได้ในบมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) ที่ซื้อกิจการเข้ามาเต็มไตรมาส และ Synergy ที่จะเข้ามาหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดการณ์กำไรปี 61 เติบโต 5.6% จากปีก่อน โดยได้รวมเอาประเด็นการเข้าประมูลคลื่นใหม่ในปีนี้เข้าไปแล้ว ซึ่งมองว่า ADVANC น่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ซ์ (MHz) เช่นเดียวกับผู้ประกอบการค่ายอื่นๆ เนื่องจากทุกค่ายมือถือมีความจำเป็นต้องมีคลื่นเข้ามาเพิ่ม เพื่อรองรับการให้บริการในระยะยาว
โดย ADVANC ถือว่ามีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ในระดับ 6-7 หมื่นล้านบาท และยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินได้อีกเล็กน้อย ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุน แต่หากไม่เข้าร่วมประมูล หรือไม่ชนะการประมูลคลื่นดังกล่าว ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ในด้านคุณภาพ จากปัจจุบันที่มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอต่อการให้บริการ
"เรายังคงแนะนำซื้อ แต่ ณ ราคาปัจจุบันที่ค่อนข้างสูง จึงแนะนำนักลงทุนให้หาจังหวะเข้าลงทุนในช่วงอ่อนตัวลงมา"นายสุวัฒน์ กล่าว
ด้านนายวสุ มัทนพจนารถ นักวเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า คาดกำไรไตรมาส 1/61 ของ ADVANC จะอยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกมาจากการเติบโตของรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวม IC) ขณะที่ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.6% และยังคงมีการแข่งขันช่วงชิงลูกค้าประเภทบัตรเติมเงิน ด้วย ARPU ที่ต่ำ คาดว่า ADVANC จะสูญเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไปประมาณ 1.2 ล้านราย ในช่วงเดือนก.พ.61 ให้กับคู่แข่ง ซึ่งขณะนี้ก็มีการใช้โปรโมชั่นให้เครื่องโทรศัพท์ฟรีแก่ผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์กำไรของ ADVANC ในปีนี้ จะเติบโตได้ 13.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากภาพรวมอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่การแข่งขันปรับตัวลดลง และเศรษฐกิจไทยเติบโตดี
ส่วนการเปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ คาดว่า ADVANC น่าจะเข้าไปประมูลใบอนุญาตฯ เนื่องจากแบนด์วิธที่มีอยู่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับฐานลูกค้าที่มีในปัจจุบัน ซึ่งมองความสามารถในการเข้าประมูลคลื่น ADVANC น่าจะกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินได้อีกในระดับหนึ่ง ประกอบกับ ที่ผ่านมา ADVANC ก็มีการปรับลดนโยบายการจ่ายปันผลลงมาเหลือไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ADVANC น่าจะมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว
"เรายังคงเป้าหมายราคาไว้ที่ 218 บาท ซึ่งก็ใกล้ราคาเป้าหมายเข้ามาแล้ว จึงอยากแนะนำนักลงทุนควรหาจังหวะลงทุนเมื่ออ่อนตัว โดยเรายังคงแนะนำ ซื้อ จากกำไรที่คาดว่าจะเติบโตดีขึ้น จากการแข่งขันที่เบาบางลง และการเข้าประมูลคลื่นใหม่ ซึ่งมองว่า แอดวานซ์ ควรจะมีเพิ่มอีก 1 ใบอนุญาต"นายวสุ กล่าว
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรสุทธิในไตรมาส 1/61 จะอยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า จากรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้น และอัตรากำไรจากการขายเครื่องที่ดีขึ้น
ขณะที่รายได้คาดว่าจะทรงตัวหรืออยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากรายได้จากค่าบริการที่เพิ่มขึ้นจะถูกหักล้างไปโดยยอดขายเครื่องที่ลดลง โดยคาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 6% ตามค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะลดลง 9% เนื่องจากในไตรมาส 4/60 มีการบันทึกโบนัสพนักงาน
อย่างไรก็ตาม ยังคงประมาณการกำไรปี 61 เอาไว้เท่าเดิมที่ 3.21 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 7% จากปีก่อน เนื่องจากคาดกำไรสุทธิในไตรมาส 1/61 จะคิดเป็นสัดส่วน 24.6% ของประมาณการทั้งปี อีกทั้งมองอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลยังมีความน่าสนใจโดยอยู่ที่ 3.6% ในปี 61 และ 3.8% ในปี 62
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดรายได้ในไตรมาส 1/61 น่าจะมาอยู่ที่ 4.13 หมื่นล้านบาท เติบโตจากไตรมาส 4/60 เล็กน้อย ARPU ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากตัวเลขผู้ใช้ Post-paid ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการมี Content ที่ถูกใจคนไทยอย่าง "บุพเพสันนิวาส" เป็นเนื้อหา Add-On จากละครดังของบมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) รวมถึงในขณะนี้มีแนวโน้มการใช้ Handset subsidy ที่ไม่เพิ่มขึ้น แต่ ADVANC จำเป็นต้องเพิ่มงบในส่วนของการสร้างเนื้อหาดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนด้านการขายจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย น่าจะมาอยู่ที่ 6.67 พันล้านบาท
ทั้งนี้ จากปัจจัยทั้งหมดดังกล่าว ส่งผลให้ตัวเลขกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ลดลงประมาณ 1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่อย่างไรก็ดีมองว่ากำไรในไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป จะขยับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จากอานิสงส์ของการลงทุนบุกเบิกตลาด Content เช่น การร่วมกับ BEC ใน "บุพเพสันนิวาส"
สำหรับภาพรวม ปี 61 ต้องจับตาการประมูลคลื่น 1800 MHz ในรอบนี้ ขณะที่ ADVANC ได้เริ่มทำกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งให้ได้ส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนไทยได้เปลี่ยนไปใช้และบริโภค ข้อมูล Online และ Social Media ที่จะทำรายได้จากส่วน Content เป็นหลัก