บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี คาดยอดขายปีนี้อาจทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโต 5-6% หลังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากกลุ่มเอสซีจีมีการส่งออกราว 40% ของยอดขาย อย่างไรก็ตาม บริษัทพร้อมนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อหวังปรับเพิ่มราคาสินค้าช่วยพยุงยอดขายให้ดีขึ้น ขณะที่มองมาร์จิ้นธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงที่เหลือของปีนี้จะทรงตัวจากไตรมาสแรก เพราะความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยังสูงขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นก็ตาม
พร้อมยังหวังว่าเริ่มก่อสร้างโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และมองโอกาสการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในภูมิภาคเพิ่มเติม
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ เครือเอสซีจี เปิดเผยว่า ยอดขายของเอสซีจีในปีนี้อาจจะทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโต 5-6% จากระดับ 4.51 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากเอสซีจีมีการส่งออกราว 40% ของยอดขาย และการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศก็ยังมีบางส่วนที่เชื่อมโยงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดขายในไตรมาส 1/61 เติบโตได้เพียง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"เราคิดว่าในแง่ของวอลุ่ม หรือ growth ถ้าค่าตัวอื่นๆใกล้เคียง คิดว่าน่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าที่เราตั้งไว้ ณ ตอนนี้ค่อนข้างดูยาก เพราะในไตรมาสที่ผ่านมาก็เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ยอดขายไม่ถึง…ความไม่แน่ใจมี แต่ยังคงตั้งเป้าเท่าเดิมเราก็ยังสู้ต่อ เรายังเชื่อว่าฐานธุรกิจที่เราลงทุนในต่างประเทศจะส่งผลในแง่วอลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ control ไม่ได้คือเรื่องค่าเงิน" นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า เอสซีจีไม่สามารถที่จะควบคุมทิศทางค่าเงินบาทได้ แต่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ขณะนี้คือการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ก็ รวมถึงการปรับตัวขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพื่อขยายมูลค่าและปริมาณของตลาด ซึ่งน่าจะสามารถเข้ามาชดเชยผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้เอสซีจียังมีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบางส่วนเพื่อลดผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ทำประกันความเสี่ยงไม่ถึง 50% ของมูลค่าการส่งออก
สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ยังน่าจะเติบโตได้ตามที่ภาครัฐคาดการณ์ราว 3.9-4% จากการลงทุนโครงการของภาครัฐ ซึ่งเริ่มมีออกมาต่อเนื่อง ก็จะทำให้ตลาดวัสดุก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตามมา ขณะที่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงมีทิศทางที่ดี ซึ่งสังเกตจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ยังขยายตัว และการค้าชายแดนที่ยังเติบโต โดยปีนี้เอสซีจียังคาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 2-3% หลังไตรมาสแรกความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ในระดับทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีทิศทางที่ดีขึ้นจากความต้องการใช้ของภาครัฐที่เริ่มมีความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐออกมา
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 บริษัทมีรายได้จากการขาย 1.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท ลดลง 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีกำไรจากการขายเงินลงทุน
สำหรับทิศทางในไตรมาส 2/61 แนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบแนฟทาจะยังปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน ที่ได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง แต่ในส่วนของมาร์จิ้นปิโตรเคมีช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังทรงตัวจากไตรมาสแรกที่มีส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ HDPE-แนฟทา อยู่ที่ 798 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าปิโตรเคมีที่สูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น จะเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเบาซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในหลายโครงการ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก็พร้อมที่จะเปิดเผยรายละเอียดต่อไป ขณะที่ความคืบหน้า โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการลงุทนภายใต้ PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ที่เอสซีจีถือหุ้นอยู่ 30% นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้
ด้านความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม มูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.88 แสนล้านบาท นั้น คาดว่าจะสรุปแผนลงทุนและแผนการเงินได้ในกลางปีนี้ โดยมุ่งหวังที่จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนสำหรับโครงการดังกล่าวในช่วงปีนี้ราว 2 หมื่นล้านบาทจากวงเงินลงทุนรวมทั้งหมดในปีนี้ที่ราว 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รวมการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่บริษัทยังคงมองหาโอกาสการซื้อกิจการในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
นายรุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า บริษัทยังไม่มีแผนที่จะแตกมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จากปัจจุบันที่อยู่หุ้นละ 1 บาท