นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ตอบคำถามระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้น ITD ถึงข้อสังเกตเรื่องคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน หลังจากถูกจับกุมคดีล่าเสือดำในทุ่งใหญ่นเรศวรว่า ยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าว และขณะนี้ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่บริหารงานใน ITD ต่อไป
"ผมก็ยังเป็นประธานบริหารต่อไป เพราะก็ผมไม่ได้ทำ วันนั้นผมไปถึงเย็นวันเสาร์ผมก็ไปนอน ตื่นเช้ามาก็เข้าไปทุ่งใหญ่และถูกจับในตอนเย็น และโดนกักขัง 2 วันสองคืน ติดต่อใครไม่ได้ เพราะถูกยึดโทรศัพท์ พอออกมาก็เจอกับนักข่าวเป็นร้อย ซึ่งส่วนภาพที่ออกมา ก็ออกไปหมดแล้ว คิดว่าทางป่าไม้เป็นคนส่ง"นายเปรมชัย กล่าวกับผู้ถือหุ้นที่สอบถาม
สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่า ITD ถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) จากภาครัฐในการเข้าประมูลหรือรับงานโครงการใด ๆ หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวนั้น นายเปรมชัย กล่าวว่า ได้โทรศัพท์สอบถามหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลูกค้ารายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ไม่พบว่ามีใครหรือหน่วยงานใดขึ้น Blacklist จะมีแต่ความเข้สใจและเห็นอกเห็นใจกลับมาและขอให้ตั้งใจทำงาน
ส่วนเรื่องงานที่อยู่ระหว่างเจรจาและรอเซ็นสัญญาก็ยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เกิดผลกระทบแต่อย่างใด รวมถึงการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ ข้าราชการ ก็ยังมีการติดต่อกันตามปกติเช่นกัน
"ผมยืนยันได้ และตัวผมเองก็พยายามเข้าใจและเตรียมตัวมากขึ้นและพยายามจะตั้งใจทำงานให้ดีขึ้นกว่าเก่า...ผมไม่ได้ทำ ผมก็ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ได้โทรสอบถามทุกกรมทุกกระทรวงก็มีแต่คนเห็นใจผม"นายเปรมชัย กล่าว
ด้านนายไกรศร จิตธรรม ประธานกรรมการตรวจสอบ ITD กล่าวว่า จากกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร สังคมและสื่อได้ตัดสินว่าผิดไปแล้ว และพยายามจะลงโทษทางใดทางหนึ่ง ซึ่งก็มีนายกรัฐมนตรีได้พูดว่า ให้ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงและตามข้อกฎหมาย ซึ่งในฐานะที่เราก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนชาวบ้านทั่วไป ตัวผมเองเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ หน้าที่หลักของกรรมการคือดูแลผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น
"สิ่งแรกที่ทำจากวันนั้นคือติดต่อกับผู้บริหารว่าพยายามจะดูผลกระทบการยกเลิกงาน การขึ้น Backlist การเพิกถอนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็พยายามหาข้อมูลและติดตามมากที่สุด ผลกระทบการดำเนินงานโดยตรงคงไม่มี เพราะจากงานที่มีอยู่ในมือและรอรับรู้รายได้ในอนาคตเกือบ 5 แสนล้านบาท แต่ระยะยาว บริษัทกำลังเตรียมคนรุ่นใหม่"นายไกรศร กล่าว
นายเปรมชัย ยังกล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของ ITD ต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า ในปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้แตะระดับ 1 แสนล้านบาท จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยเป็นงานที่เซ็นสัญญาแล้วรวม 3.2 แสนบ้านบาท จากในประเทศ 2 แสนล้านบาทและต่างประเทศ 1.2 แสนล้านบาท ส่วนงานที่รอเซ็นสัญญามีมูลค่ารวม 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานในประเทศ มีระยะเวลารับรู้ภายใน 3 ปีนี้ ขณะที่คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้จะอยู่ที่ราว 10% จากปีก่อน 11.9%
บริษัทคาดว่าในปีนี้จะได้งานใหม่เข้ามาไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่มีงานใหม่ 8.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาครัฐจะมีการทยอยเปิดประมูลงานใหม่จำนวนมาก หลังจากล่าช้ากว่าแผนเดิมในปีก่อน ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 9 เส้นทาง มูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาทโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการขยายท่าเรือมาบตาพุด และโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
"ปีนี้รายได้เราแตะ 1 แสนล้านบาท เพราะ Backlog เรามี 5 แสนล้านบาทต้องทำให้เสร็จใน 3 ปี หรือ รับรู้รายได้ 1 ใน 3 ส่วนมาร์จิ้นก็ได้ 10% ไม่ควรจะต่ำกว่านั้นเพราะงานออกมาเยอะ แต่ก็จะสูงมากไม่ได้...งานทางยกระดับ งานท่าเรือ เป็นงานที่เราถนัด"นายเปรมชัย กล่าว
ส่วนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งล่าช้ามา 2 ปีนั้น นายเปรมชัย คาดว่า จะเริ่มเดินหน้าได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้ หลังรัฐบาลเมียนมาได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากออสเตรเลียเข้ามาดูแลโครงการก่อนจะอนุมัติใบอนุญาตการเช่าใช้ที่ดิน ซึ่งบริษัทจะเช่าที่ดินระยะเวลา 75 ปี ซึ่งบริษัทได้ร่วมกับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ทำการตลาดนิคมอุตสาหกรรมทวาย เบื้องต้นขายไปแล้ว 300-400ไร่ และได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) แล้ว
และในระหว่างนี้รัฐบาลเมียนมาจะเจรจาใช้เงินกู้จากรัฐบาลไทย วงเงิน 4.5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างถนนจากบ้านพุร้อนไปยังทวาย คาดว่าจะเซ็นสัญญาเงินกู้ได้ในไตรมาส 3/61 และรัฐบาลเมียนมาจะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้รับเหมาสร้างถนนจากไทยในปลายปีนี้ ซึ่งบริษัทก็คาดว่ามีโอกาสได้รับงาน
ขณะที่โครงการเหมืองโปแตชที่ จ.อุดรธานี ต้องชะลอออกไปเพราะรอความชัดเจนหลังมี พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ โดยจะต้องรอว่าต้องทำประชาพิจารณ์ใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนในโครงการนี้แล้ว 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย ITD ถืออยู่ 90% และกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 10% โดย ITD ได้เจรจาขายหุ้นออกไป20%ให้กับบริษัทใหญ่สัญชาติไทยแล้ว ทำให้ ITD เหลือถือหุ้นสัดส่วน 70%
ส่วนโครงการเหมืองบอกไซต์และโรงงานอลูมิน่าในสปป.ลาว มูลค่าโครงการ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังจากหาผู้ร่วมทุนเข้ามาถือหุ้น 35% ขณะที่ ITD ถือหุ้น 50% และภาคเอกชนลาว ถือหุ้น 15% โครงการนี้จะใช้เงินกู้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย ITD ลงทุนไปแล้ว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการนี้มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน(IRR) สูงกว่า 20% ระยะเวลา 2 ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปลายปีนี้
ด้านโครงการ Dhaka Elevated Expressway หรือทางด่วนยกระดับที่ประเทศบังคลาเทศ มูลค่าโครงการ 1,200 ล้านเหรียญ สัมปทาน 30 ปี โดย ITD จะตัดขายหุ้นออกไป 49% เหลือถือหุ้น 51% ซึ่งบริษัทลงเงินทุนไปแล้ว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มงานในปลายปีนี้ และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เมืองดักการ์ 4 สัญญา รวมมูลค่าโครงการ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เริ่มงานก่อสร้างแล้วไปแล้ว 3% มีระยะเวลา 3 ปี
นายเปรมชัย ยังกล่าวถึงโครงการก่อสร้างบริหารจัดการท่าเรือและทางรถไฟในสาธารณรัฐโมซัมบิค มูลค่าโครงการ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐว่า คาดว่าจะทำสัญญากับรัฐบาลโมซัมบิกปลายปีนี้และเริ่มก่อสร้างปีหน้า มีระยะเวลา 5 ปีในการก่อสร้าง ระหว่างนี้รัฐบาลโมซัมบิกให้บริษัทเข้าไปดำเนินโครงการได้โดยใช้เส้นทางรถไฟเดิมไปก่อน ขณะที่บริษัทกำลังจะเซ็นสัญญากับลูกค้าผู้ใช้บริการหลักจากสวิสเซอร์แลนด์และอินเดีย
นอกจากนี้ ITD อยู่ระหว่างเจรจาขายหุ้นโครงการดังกล่าวให้กับพันธมิตร 4 รายในสัดส่วน 20% ทำให้ ITD เหลือการถือหุ้นสัดส่วน 40% ส่วนที่เหลือรัฐบาลโมซัมบิก ถือ 20% และ เอกชนในประเทศอีก 20% ทั้งนี้ ITD ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และเตรียมขอเงินกู้จากจีน
"โครงการในต่างประเทศเรามีกำไรมากจาการถือหุ้นใหญ่ คาดว่าจะมีอัตรากำไรสุทธิ 10-15% จากงานก่อสร้าง ส่วนงานที่เราOperate จะได้ IRR มากกว่า 15% "นายเปรมชัย กล่าว