นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บริษัทย่อยของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า กลุ่ม BSR ประกอบด้วย BTS (ถือหุ้นใหญ่ 75%) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) จะเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา)
พร้อมกันนั้น กลุ่ม BSR ยังเจรจากับ บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อให้เข้ามาร่วม เนื่องจาก ปตท.มีความชำนาญในพื้นที่ภาคตะวันออก และมีบุคคลากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านวิศวกร อีกทั้งยังได้เจรจากับบริษัททั้งไทย และต่างประเทศมากกว่า 2 ราย ให้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมประมูลโครงการนี้ เนื่องจากใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูเงื่อนไขการเข้าประมูล (TOR) เสียก่อน และน่าจะเจรจาเสร็จเร็วก่อนที่จะยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูล คาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดขายเอกสารประกวดราคาในเดือน พ.ค.นี้
"เรากำลังคุยกับ ปตท.ซึ่งเขาก็ยังไม่ตกลง ปตท.เขาก็เป็นเจ้าพ่อภาคตะวันออกอยู่แล้ว และยังคุยกับหลายรายทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนที่ใครจะเป็น lead ก็ต้องมา TOR ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ ยังบอกไม่ได้ว่าใครเป็น Lead ถ้า ปตท.เข้ามาร่วมเขาก็เป็นบริษัทใหญ่"นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่ม บมจ.ช.การช่าง (CK) กล่าวว่า ทางกลุ่ม CK ซึ่งมี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นธุรกิจเดินรถไฟฟ้า จะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) แต่เนื่องจากแพกเกจการประมูลในโครงการนี้มีทั้งเรื่องการเดินรถ งานก่อสร้างและการบริหารที่ดินซึ่งคงยากที่จะมีผู้ประกอบการรายเดียวทำได้เองหมด ประกอบกับต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรเข้ามาร่วมมือด้วยกัน ซึ่งทางกลุ่ม CK ได้เจรจากับบริษัทพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม ต้องเห็น TOR ออกมาเสียก่อนว่ารายละเอียดกำหนดอย่างไรบ้าง และคาดว่าคงใช้เวลาราว 1-2 เดือนที่จะรวมกลุ่มเข้ายื่นประมูล หรือพิจารณาดูว่าจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมประมูลโครงการนี้หรือไม่
อนึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนานาชาติ (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม.ซึ่งถือเป็นแฟลกชิพของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของ EEC เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย ครม.อนุมัติให้เปิดการประมูลแบบ PPP Net Cost โดยอนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการดังกล่าวไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท