บมจ.ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง (TIGER) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรกจำนวน 122.28 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 26.58% ของทุนจดทะเบียน และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
TIGER ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรม แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างโครงการทุกประเภทและงานออกแบบ ดำเนินการโดยบริษัท ไทย อิงเกอร์ จำกัด (TEC) และ กลุ่มธุรกิจรับเหมาติดตั้งและวางระบบทางวิศวกรรม (System Integrattion) ที่เกี่ยวเนื่องกับการคมนาคมและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ดำเนินงานโดย บริษัท ไทยอิงเกอร์ เทคโนโลยี จำกัด (TET)
บริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ไปใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการแก่กลุ่ม TEC และ กลุ่ม TET ขณะที่มีแผนการลงทุนในโรงงาน (Workshop) และจัดหาเครื่องจักรกลสำหรับผลิตและขึ้นรูป (Fabrication) เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานรับเหมาของ TET และ แผนการลงทุนในโรงงานผลิตสีตีเส้นจราจรชนิดเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานรับเหมาของ TET
ทั้งนี้ TEC ได้วางแผนเข้าร่วมการประมูลโครงการที่มีมูลค่าสูงขึ้นจากเดิม เช่น โรงแรมระดับ 4-5 ดาว ขนาด 200 ห้องขึ้นไป โดยจะเน้นการรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) โรงพยาบาลขนาด 200 เตียงขึ้นไป ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้มีความซับซ้อนมากขึ้น และจะต้องอาศัยเงินทุนหมุนเวียนภายในโครงการมากขึ้น จากปัจจุบัน ลูกค้าของ TEC เป็นโครงการขนาด 200-300 ล้านบาท รวมทั้ง มีแผนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสนับสนุนการเข้าประมูลและให้บริการรับเหมาโครงการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่
ขณะที่ จะนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนของ โรงงานออกแบบและผลิตอุปกรณ์สำหรับงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งที่เริ่มดำเนินการผลิตเมื่อเดือน มี.ค. 61 และสนับสนุนการขยายธุรกิจจัดหาและจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง เช่น กระเบื้องปูพื้น สุขภัณฑ์ ถังและระบบบำบัดน้ำเสีย ถังและระบบเก็บน้ำดี เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วน TET ได้วางงบประมาณและแผนการในการก่อสร้างโรงงานขึ้นรูปเหล็กเพื่อประกอบเป็นอุปกรณ์จราจรที่เกี่ยวข้อง โดยคาดการณ์เงินลงทุนไว้จำนวน 25 ถึง 30 ล้านบาท โดยใช้เงินจากการเสนอขาย IPO เป็นทุนสนับสนุนแผนการก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตและขึ้นรูป (Fabrication) อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานรับเหมาบางส่วน และโรงงานผลิตสีตีเส้นจราจรชนิดเทอร์โมพลาสติด เพื่อผลิตตีเส้นจราจรแบบเทอร์โทพลาสติก คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 5 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 230,000,000 บาท โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 460,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยก่อนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน บริษัทมีทุนเรียกชำระแล้วจำนวน 168,860,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 337,720,000 หุ้น ภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO จะทำให้บริษัทมีทุนที่ออกและชำระแล้วเต็มมูลค่า 230,000,000 บาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มี.ค.61 นายจตุรงค์ ศรีกุลเรืองโรจน์ ถือหุ้น 99,288,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 29.40% และหลังจากขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนลงเหลือ 21.58% นายบริพันธุ์ วรรณขจรกิจ ถือหุ้น 97,941,600 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 29.00% จะลดสัดส่วนลงเหลือ 21.29% นายวินัย วรรณขจรกิจ ถือหุ้น 67,546,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.00% จะลดสัดส่วนลงเหลือ 14.68% และนายกิตติ ดุษฎีพฤฒิพันธุ์ ถือหุ้น 66,192,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.60% จะลดสัดส่วนลงเหลือ 14.39%
ผลประกอบการของบริษัทปี 58-60 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 365.18 ล้านบาท 517.97 ล้านบาท และ 695.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี 38.04% สืบเนื่องมาจากการโตของรายได้จาก 2 กลุ่มธุรกิจทั้งในกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและงานออกแบบซึ่งดำเนินงานโดย TEC และกลุ่มธุรกิจรับเหมางานติดตั้งและวางระบบทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านคมนาคมขนส่ง ด้านความมั่นคง และด้านเทคโนโลยีดำเนินงานโดย TET
ส่วนกำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทในปี 58-60 เท่ากับ 9.29 ล้านบาท 42.47 ล้านบาท 83.88 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 2.51%, 8.14% และ 12.04% ตามลำดับ ทั้งนี้ กำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิของปี 58 มียอดต่ำกว่าค่ามาตรฐานเนื่องจาก บริษัทฯ มีการปรับปรุงบัญชี เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของปี 58-60 มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากการเติบโตของสองกลุ่มธุรกิจ ทั้งธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจรับเหมาติดตั้งและวางระบบทางวิศวกรรมฯ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมีอัตราการเติบโตของรายได้อย่างมาก อีกทั้งบริษัทยังสามารถรับงานที่เป็นโครงการที่มีโครงสร้างการก่อสร้างและออกแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นกว่าเดิม
ประกอบกับความสามารถของ TEC ในการบริหารต้นทุนการก่อสร้างให้อยู่ในงบประมาณที่วางแผนไว้ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนที่ดี นอกจากนั้นตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.59 บริษัทได้เริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจของ TET จึงทำบริษัทฯ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจรับเหมาติดตั้งและวางระบบทางวิศวกรรมฯ อีกทางหนึ่งด้วย
ณ วันที่ 31 ธ.ค.60 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 433.63 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 224.34 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 209.02 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิ