IFEC ลุ้นผลศาล 13-15 ก.ค.ก่อนเดินหน้าจัดประชุมผถห.เคลียร์ปัญหา ติงหน่วยงานรัฐไม่ช่วยหาทางออก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 26, 2018 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า การจัดประชุมผู้ถือหุ้น IFEC รอเพียงคำสั่งของศาลในวันที่ 13-15 ก.ค.นี้ที่จะมีการสืบพยานและพิจารณาคดีที่มีผู้มาคัดค้านไม่ไห้บริษัทจัดประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมตัดสินการแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวที่จะเป็นประธานกรรมการชั่วคราวในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปในการที่จะมีคณะกรรมการเข้ามาและสามารถรับรองงบผลการดำเนินงานปี 60 การจัดทำแผนงานของบริษัท และการอนุมัติการชำระคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

"ปัจจุบัน IFEC ถือว่ามีความสามารถในการชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ เพราะ IFEC มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน โดยมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้เราติดปัญหาทางกฏหมายและไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นได้ ทำให้เราไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาอนุมัติรายการต่างๆได้ ซึ่งเราก็อยากจะเดินหน้าต่อ แต่ด้วยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้มีความล่าช้าเกิดขึ้น ผมยินดีที่จะให้เจ้าหนี้เข้ามาพูดคุยหรือมาทำข้อตกลงกัน แต่ไม่มีผลผูกพันทางกฏหมาย เพราะว่าไม่ได้เป็นการพูดคุยผ่านบอร์ดที่ได้รับการรับรองแล้ว แต่ก็เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ทุกคนเข้ามาคุยได้"นายศุภนันท์ กล่าว

ทั้งนี้ การเดินหน้ากระบวนต่างๆของ IFEC ยังคงต้องรอคำตัดสินของศาลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของบริษัทลูกของ IFEC ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ และสร้างรายได้เข้ามาให้กับบริษัท โดยส่วนใหญ่มาธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งผลการดำเนินงานปี 60 ของบริษัทได้จัดทำแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีกรรมการรับรองงบ ทำให้แจ้งงบผลการดำเนินงานปี 60 ไม่ได้ แต่มั่นใจว่ามีผลการดำเนินงานในทิศทางที่ดีขึ้น

นายศุภนันท์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ของบริษัทได้ชี้แจงแก่เจ้าหนี้หุ้นกู้และเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) โดยได้อธิบายให้เห็นถึงความผิดปกติในการซื้อขายกิจการของโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพย์สินสำคัญของ IFEC จนกลายเป็นส่วนสำคัญของต้นเหตุปัญหาทางการเงินของ IFEC ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้ตั๋ว B/E และผู้ถือหุ้นรายย่อย

ด้านนายประสิทธิ วงศาสวัสดิ์ ทนายความ IFEC กล่าวว่า IFEC ต้องการเชิญชวนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันตรวจสอบความผิดปกติภายในบริษัท หลังจากผู้บริหารชุดปัจจุบันพบความผิดปกติของการซื้อขายกิจการโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำคัญของ IFEC ซึ่งตามปกติขั้นตอนการซื้อขายต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) และเข้าตรวจสอบทรัพย์สิน แต่การซื้อขายโรงแรมดาราเทวีกลับทำดีลในเดือน ต.ค.58 แล้วจึงย้อนกลับมาทำ MOU ในเดือน พ.ย.58

นอกจากนั้น จากการพบพิรุธและข้อน่าสงสัย ทำให้ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในงบการเงินของ IFEC และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เข้ายื่นหลักฐานและเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบความผิดปกติดังกล่าว

ขณะที่นายศุภนันท์ กล่าวต่อว่า ต้นเดือนที่ผ่านมา IFEC ได้ส่งจดหมายเชิญกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้และผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IFEC ให้เข้าร่วมกับ ก.ล.ต.ตรวจสอบความผิดปกติในการซื้อขายโรงแรมดาราเทวี

นอกจากนี้ IFEC ได้ฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญา รวมทั้งแจ้งความร้องทุกข์ต่อ DSI กรณีพบข้อมูลว่าผู้ที่เกี่ยวข้องที่สร้างเงื่อนไขซื้อขายอาคารให้ตัวเองได้รับประโยชน์ ฟ้องร้องคดีอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่พยายามครอบงำกิจการในลักษณะผิดปกติ แจ้งความร้องทุกข์ต่อปอศ.ดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีการสร้างเงื่อนไขซื้อขายโรงแรมให้ตัวเองได้รับประโยชน์ และปกปิดข้อมูลเพื่อสร้างราคาซื้อขายจริง ร้องทุกข์ต่อ ปอศ.ดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุจริตการซื้อขายขนมของร้านในเครือดาราเทวี และยังเตรียมดำเนินคดีอีกหลายกรณี

"พบข้อมูลว่ามีการปกปิดความจริงมีการถ่ายเงินออกไป ซึ่งสงสัยว่าจะนำไปซื้อหุ้นหรือไม่ และการสร้างหนี้ค่าก่อสร้างขึ้นมา ยังเป็นที่สงสัยว่าหนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ทำให้ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม"นายศุภนันนท์ กล่าว

ด้านหนี้สินของบริษัททั้งหนี้หุ้นกู้และหนี้ตั๋ว B/E ที่เกินกำหนดชำระแล้วมีรวมกันอยู่ที่กว่า 6 พันล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถอนุมัติชำระเงินได้ เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในการอนุมัติ หลังคณะกรรมการบริษัทมีจำนวนไม่ครบ 9 คน โดนที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการบริษัทอยู่ที่ 3 คน และไม่สามารถจัดการเปิดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทได้

นายประสิทธิ กล่าวว่า แม้ว่าหน่วยงานกำกับหรือหน่วยงานภาครัฐจะออกมาเร่งให้ IFEC เร่งแก้ปัญหาต่างๆโดยเร็ว แต่ไม่ได้ช่วยชี้ทางออกหรือสิทธิในการแก้ปัญหาให้กับบริษัท มีแต่การจำกัดสิทธิของบริษัท ซึ่งหากทุกคนต่างช่วยกันหาทางออกของปัญหาได้ จะเกิดผลดีและเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นกลับมา


แท็ก (IFEC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ