TSE จับมือ FPI ลุยโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น พร้อมเจรจาขยายลงทุนทั้งใน-ตปท.ศึกษาตั้ง IFF หรือ Spin Off บ.ย่อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 26, 2018 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) กล่าวว่า บริษัทได้มีการจำหน่ายหุ้นของบริษัท ทีเอสอี โอเวอร์ซีส์ กรุ๊ป จำกัด (TSEO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นให้แก่ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) ในสัดส่วน 40% มูลค่า 1,695 ล้านบาท เพื่อร่วมดำเนินกิจการและขยายงานในประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ TSEO ลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 8 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวมเท่ากับ 176.72 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท มีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 6.99 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะ COD เพิ่มเติมในเดือน พ.ค.อีก 1 โครงการ

ส่วนอีก 1 โครงการจะ COD ได้ในปีหน้า และโครงการสุดท้าย ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 155 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ในปี 65 เป็นต้นไป ซึ่งการร่วมลงทุนกันของ TSE และ FPI ในครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่ 2 โครงการดังกล่าว ซึ่งใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง

น.ส.แคทลีน กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น TSEO ได้ในช่วงไตรมาส 3/61 ในงบเดี่ยวของบริษัทหลังหักรายการระหว่างกัน ซึ่งจะแสดงเป็นกำไรพิเศษในงบรวมราว 400-500 ล้านบาท

พร้อมทั้งเตรียมนำเงินก้อนดังกล่าวและเงินสดของบริษัทรวม 2.25 พันล้านบาทไปชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลงให้เหลือ 1.2 เท่า จากปัจจุบัน 1.7 เท่า เชื่อว่าจะลดภาระดอกเบี้ยได้ราว 40-50 ล้านบาท/ปี จากปัจจุบันจ่ายมากกว่า 100 ล้านบาท/ปี และจะสร้างโอกาสในการกู้เพิ่มหากมีการลงทุนใหม่ ๆ

นอกจากนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) หรือการกระจายหุ้น (Spin Off) ของ TSEO เพื่อเสนอขายหุ้นตอ่ IPO ภายใน 2-3 ปีนี้ เพื่อระดมทุนมาใช้ต่อยอดการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคต

น.ส.แคทลีน เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมลงทุน (JV) หรือ เข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายราย กำลังการผลิตรวมกว่า 150 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3/61 ประกอบด้วย โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 80-100 เมกะวัตต์, โซลาร์ฟาร์มในประเทศ 2-3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 20-30 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 24 เมกะวัตต์

"บริษัทมีศักยภาพในการลงทุนเพิ่มเติมในปีนี้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5-6 พันล้านบาท โดยจะมาจากการกู้ยืมเป็นหลัก แต่หากมีโครงการขนาดใหญ่ก็สามารถเพิ่มทุนได้ เนื่องจากได้ขอเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ไว้แล้วที่สัดส่วน 30% ของทุนจดทะเบียน"น.ส.แคทลีน กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมย้ายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในไตรมาส 3/61 เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนสถาบันทั้งในกระเทศและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าลงทุนในหุ้น TSE แต่ไม่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมองว่าการมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาถือหุ้นมากขึ้นจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับราคาหุ้น TSE

ด้านนายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ FPI กล่าวว่า บริษัทฯเข้าลงทุนในบริษัทย่อยของ TSE เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นและพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆในอนาคต โดยเงินลงทุนดังกล่าวมาจากการกู้ยืมจากสถานบันทางการเงินเป็นหลัก ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาท และที่เหลือมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ

หลังจากการเข้าร่วมลงทุนดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะรับรู้ผลตอบแทนจากการลงทุนเข้ามาเป็นกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย (EBITDA) ตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป จำนวนมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ภายหลังจากที่โซลาร์ฟาร์มของ TSEO ได้ทำการ COD ครบทั้ง 8 โครงการ เชื่อว่าจะส่งผลทำให้กำไรสุทธิของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปี 60 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 204.23 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเพิ่มเติมอีก จำนวน 2 ราย กำลังการผลิตรวม 20 MW ในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

นายสมพล กล่าวอีกว่า จากการเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนในลักษณะการร่วมทุนนั้นสร้างผลตอบแทนในรูปแบบส่วนแบ่งกำไรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทยังคงมองหาโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจพลังงานทดแทนที่มีการเติบโตและให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเข้าถือหุ้นในบริษัทย่อยของ TSE แล้ว ปัจจุบัน FPI ยังมีความร่วมมือกับ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ตั้งบริษัท เซฟ เอนเนอร์จี โฮล์ดิ้ง จำกัด (SAFE) เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยถือหุ้นในสัดส่วน 33.37% ซึ่งจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาประมาณ 35 ล้านบาทต่อปี

สำหรับทิศทางธุรกิจต่อจากนี้บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจหลัก หรือธุรกิจรับจ้างและออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่ยังคงมาจากธุรกิจหลักอยู่ ขณะที่รายได้ปีนี้มั่นว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 10% จากปีก่อนทำได้ประมาณ 2 พันล้านบาท เป็นไปตามคำสั่งซื้อ และการรับจ้าง (OEM) ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ