โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) มองว่ากำไรปี 61-62 ขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 MHz อย่างเป็นทางการกับ บมจ.ทีโอที ทำให้ DTAC ปิดความเสี่ยงเรื่องคลื่นความถี่ที่กำลังสิ้นสุดสัญญาสัปมทานในก.ย.นี้ อีกทั้งคาดว่าความสามารถทำกำไรดีขึ้นจากการที่สามารถลดค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่เพิ่มคำแนะนำเป็น"ซื้อ"สำหรับ DTAC หลังเปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 ออกมาดีกว่าคาด และการเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับทีโอที ขณะเดียวกันคาดว่า DTAC จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz อย่างน้อย 1 ใบอนุญาตที่มีจำนวน 15 MHz โดยการเข้าประมูลไม่ได้รีบเร่งเหมือนสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ทำให้จะไม่กดดันต่อการแข่งขันประมูลมากนัก
ช่วงบ่ายหุ้น DTAC อยู่ที่ 49.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 2.60% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.14%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) บัวหลวง ซื้อ 82.50 แอพเพิล เวลธ์ ซื้อ 59.00 ฟิลลิปฯ ซื้อ 58.00 ทิสโก้ ซื้อ 58.00 หยวนต้าฯ ซื้อ 57.00 ดีบีเอสฯ ซื้อ 56.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 55.00
นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง แนะนำ"ซื้อ" DTAC มาต่อเนื่อง และได้ปรับราคาพื้นฐานเป็น 82.50 บาท จากเดิม 75 บาท โดยเชื่อว่าปีนี้ DTAC สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีในหลายรายการ และการขาดทุนจากการอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง
รวมทั้งการได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) กับ บมจ.ทีโอที อย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz บนแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดถึง 60 MHz ทำให้ปิดความเสี่ยงเรื่องสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz และ 850 MHz จำนวน 10 MHz ที่จะหมดลงในเดือน ก.ย.นี้ โดยจะเริ่มบันทึกค่าใช้จ่ายในวันที่ 23 เม.ย.61 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 4.5 พันล้านบาทต่อปี ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มในไตรมาส 2/61
แต่คาดว่าตั้งแต่ในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ค่าใช้จ่ายที่สูงจะดีขึ้นตามลำดับ หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย.61 ที่ค่าใช้จ่ายโครงข่ายเดิมจะหายไป 4 พันล้านบาท โดยทั้งหมดมีจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าในไตรมาส 4/61 จะมีกำไรเพิ่มขึ้นมากจากการไม่ต้องมีค่าตัดจำหน่ายโครงข่ายเดิม
ทั้งนี้ คาดว่าในปีนี้ DTAC จะมีกำไรสุทธิราว 2 พันล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/61 ที่มีค่าใช้จ่ายลดลง เทียบกับปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2.11 พันล้านบาท และในปี 62 ผลประกอบการของ DTAC จะกลับมาฟื้นตัวชัดเจน จากที่ได้บริหารคลื่น 2300 MHz ที่จะเริ่มมีรายได้เข้ามาชัดเจนในครึ่งหลังปีนี้ด้วย ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz นั้น มองว่า DTAC ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งประมูล ประกอบกับในอนาคตอันใกล้หรือภายใน 68 ก็จะมีการเปิดประมูลคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz ออกมาเพิ่มเติมด้วย
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ปรับคำแนะนำให้เป็น"ซื้อ"สำหรับหุ้น DTAC เนื่องจากกำไรปกติในไตรมาส 1/61 เท่ากับ 843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 296% จากงวดปีก่อน ดีกว่าที่คาด 57% โดยกำไรที่ดีกว่าคาดเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการขายและการบริหาร (SG&A) และการอุดหนุนค่าเครื่องที่ลดลง ทำให้ปรับประมาณการขึ้น รวมทั้งการปิดดีลคลื่น 2300 MHz กับทีโอที ที่เริ่มสัญญาได้ทันที ช่วยปลดล็อคความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญให้กับ DTAC หลังคลื่นใกล้หมดสัญญาสัมปทาน ทำให้มองว่าภาพรวมการแข่งขันจะคลายตัวลง เพราะทุกรายมุ่งเน้นบริหารกำไรมากขึ้น ถือเป็น win-win-win ที่ดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม
DTAC ประกาศปิดสัญญาคลื่น 2300 MHz กับทีโอที จำนวน 60 MHz ซึ่งเริ่มสัญญาได้ทันที โดย DTAC ต้องลงทุนโครงข่ายทั้งหมดและจ่ายค่าเช่าปีละ 4.5 พันล้านบาท เพื่อสิทธิใช้ capacity 60% ส่วนอีก 40% ทีโอทีสามารถใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่า DTAC จะเร่งติดตั้งโครงข่ายเฉพาะในเมืองหลักให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ไตรมาส
การปิดสัญญาดังกล่าวเป็นบวกต่อทั้งอุตสาหกรรม ได้แก่ การลดความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของ DTAC อย่างมีนัยสำคัญ เพราะคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz จะหมดสัญญาสัมปทานเดือนก.ย.61, แนวโน้มการแข่งขันในการประมูลคลื่นรอบใหม่ลดลงทันที เนื่องจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มีคลื่นเพียงพอระยะสั้น
ขณะที่ DTAC แม้ต้องการเพิ่ม แต่ก็มีคลื่น 2300 MHz ที่รองรับได้บางส่วน นอกจากนี้ DTAC ยังมุ่งเน้นกลยุทธ์การบริหารกำไรแทนการแย่งส่วนแบ่งการตลาดต่อเนื่อง สะท้อนจากงบลงทุนเท่าเดิม แม้ได้คลื่น 2300 MHz โดย DTAC น่าจะรอความชัดเจนของการประมูลคลื่นรอบใหม่ก่อนตัดสินใจลงทุนใหม่ ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสิ่งที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้
"เราปรับประมาณการกำไรปี 61 ขึ้น 45% จากค่าใช้จ่ายคลื่น 2300 MHz ที่เกิดขึ้นช้ากว่าคาดและภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ดีกว่าคาด พร้อมปรับคำแนะนำขึ้นเป็น "ซื้อ" บนราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 61 ที่ 57 บาทต่อหุ้น"
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดกำไร DTAC จะกลับมาฟื้นตัวดีตั้งแต่ปีนี้ ขณะที่คาดว่า DTAC จะเป็นผู้ชนะได้ใบอนุญาต 1 ใบคือ 1800 MHz แต่เดิม DTAC มีสมมุติฐานให้ได้ใบอนุญาต 2 ใบ แต่จากสมมุติฐานใหม่ จึงคาดว่าจะได้เพียง 1 ใบคือคลื่น 1800 MHz ซึ่งกลายกลับเป็นข้อดีคือ ค่าตัดจำหน่ายลดลง และมีกระแสเงินสดไหลออก (Cash Outflows) ลดลง ดังนั้น จึงได้ปรับประมาณการให้ดีขึ้น ระหว่างปี 61-62-63 ในอัตรา 27% ,44% และ55% ตามลำดับ โดยหลังปรับประมาณการดีขึ้น อัตราการเติบโตกำไรปีนี้และปีหน้า ของ DTAC สูงเป็น 8% , 180% เมื่อเทียบปีต่อปี ตามลำดับ
พร้อมทั้ง ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น"ซื้อ"จากเดิมเพียง"ถือ"ราคาพื้นฐานใหม่จึงปรับขึ้นเป็น 56 บาท จากเดิม 46 บาท ด้วยวิธี DCF (WACC 8.1%, TG 2%) โดยยังมองด้านความเสี่ยง จากสัมปทานปัจจุบันหมดอายุ ก.ย.61 หากประมูลกลับมาไม่ทัน อาจกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ และไม่ได้รับผลตอบแทนช่วงต้องเยียวยาผู้ใช้บริการ
ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า DTAC เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ยังคงกำไรในปีนี้ไว้ที่ 2.17 พันล้านบาท จาก 2.11 พันล้านบาทในปีก่อน แต่ปรับสมมติฐานดังนี้ ปรับเพิ่มค่าเช่าคลื่น 2300 MHz หลังเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับทีโอที เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมคาดสัญญาเริ่มในเดือน ก.ค.,ปรับลดรายได้การให้บริการ (ไม่รวม IC) ลงเล็กน้อยเป็นทรงตัวเมื่อเทียบปีต่อปี และปรับลดต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ รวมถนึงปรับลดผลขาดทุนค่าเครื่อง
พร้อมกันนี้ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น "ซื้อ"สำหรับหุ้น DTAC ให้ราคาพื้นฐาน 58 บาท โดยการเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับทีโอที โดยมีระยะสัญญาตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.61-3 ส.ค.68 จะปิดความเสี่ยงการมีคลื่นไม่เพียงพอหลังหมดสัมปทาน และลดการพึ่งพาการประมูลคลื่นใหม่ ซึ่งมีโอกาสล่าช้า