น.ส.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง (CK) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทคาดมีโอกาสได้งานใหม่ราว 20-25% ของงานภาครัฐที่เป็นงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะออกมาประมูลราว 3-4 แสนล้านบาท จากทั้งหมดที่โครงการเร่งด่วนของภาครัฐในปี 61 จำนวน 51 โครงการมีมูลค่ารวม 2.39 ล้านล้านบาท รวมทั้งบริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการภาครัฐในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการลงทุน 5 ปีแรกใช้งบลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการในรูปแบบ PPP หรือประมูลงานก่อสร้าง
ทั้งนี้ บริษัทมีความมั่นใจทั้งความรู้ด้านวิศวกรรม ประสบการณ์ที่มียาวนาน และกลุ่ม CK ก็มีศักยภาพในการรับงาน ประกอบกับ ฐานทุนของบริษัทที่วันนี้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มมาที่ 2.37 หมื่นล้านบาท และสามารถเพิ่มวงเงินกู้ได้อีกราว 4 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันมีหนี้อยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท ต้นทุนการเงินเฉลี่ย 3.2% อัตราหนี้สินต่อทุน (DE) 1.27 เท่า ขณะที่มูลค่าตลาดรวมของ CK (Market Cap) มูลค่า 44,888 ล้านบาท และกลุ่ม CK มี มูลค่าตลาดรวมกว่า 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ อย่างน้อย 2 พันล้านบาทเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน ก.ค.-ส.ค.61 และอีกส่วนจะใช้รองรับการขยายธุรกิจ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน ขณะเดียวกัน บริษัทมองว่าขณะไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(IFF) เพราะยังไม่ต้องใช้เงินมหาศาล และเงินกู้หรือหุ้นกู้ที่บริษัทอบะบริษัทในกลุ่มมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว เว้นแต่ต้องการระดมทุนเป็นแสนล้านบาทในระยะเร่งรีบ
น.ส.สุภามาส กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าในปี 61 จะมีรายได้ราว 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่คงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้ไว้ที่ระดับ 8% โดยในไตรมาส 1/61 คาดรายได้ใกล้เคียงจากไตรมาส 1/60 จากการรับรู้รายได้ตามความก้าวหน้าของงานในมือ
รายได้ส่วนใหญ่ในปีนี้จะมาจากการรับรู้จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 7.2 หมื่นล้านบาท กำหนดทยอยรับรู้ฯภายใน 2 ปี-2 ปีครึ่ง และมีโอกาสได้งานเพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าภาครัฐจะเริ่มทยอยเปิดประมูลโครงการใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2/61 คาดจะมีงานรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่างานโยธาราว 8 หมื่นล้านบาท โครงการทางด่วนพระราม 3- ดาวคะนอง มูลค่างาน 3 หมื่นล้านบาท
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเขื่อม 3 สนามบิน บริษัทขอศึกษา TOR ก่อน ซึ่ง BEM มีความสามารถในการรับงาน แต่ด้วยความที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ถึง 2 แสนล้านบาท บริษัทคงต้องเตรียมพูดคุยพันธมิตรหลายแห่งเข้ามาร่วม
ขณะที่บริษัทคาดว่าปีนี้จะรับรู้เงินปันผลจากกิจการในเครือ 3 แห่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายรับส่วนหนี้ราว 1.13 พันล้านบาท โดย 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บมจ.ทีทีดับบลิว(TTW,), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)และ บมจ.ซีเค เพาเวอร์ (CKP) ซึ่งบริษัทยังคงสัดส่วนการถือหุ้นไว้เช่นเดิม
"เรามีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ 72,233 ล้านบาท เป็น Backlog ที่ Healthy รับรู้ใน 2 ปีถึง 2 ปีครึ่ง และเราก็จะมี Backlog ใหม่ๆเข้ามา โดยงานส่วนใหญ่เป็นงานระบบขนส่งมวลชนท 60% งานเกี่ยวกับพลังงาน 20% หลักเป็นงานไซยะบุรี ทั้งงานระบบรางและพลังงานเป็นซิกเนเจอร์เรา เป็นงานที่มีความซับซ้อน และเป็นงานที่มีคู่แข่งน้อย... อย่างน้อยปีนี้คาดว่าภาครัฐจะออกประมูลปีนี้ 3-4 แสนล้านบาท เราจะสู้เต็มที่"น.ส.สุภามาส กล่าว
นางสาวสุภมาส กล่าวอีกว่า บริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศศึกษาโมเดลธุรกิจที่ CK ดำเนินการมาหลังครบรอบ 45 ปีในปีก่อน ซึ่งที่ปรึกษามองว่าโมเดลธุรกิจของ CK ดีอยู่แล้วที่มีงานก่อสร้างกับการลงทุนธุรกิจพื้นฐานที่มีสัญญาสัมปทานระยะยาวช่วยสร้างสถียรภาพขแงรายได้ไม่หวือหวาตามงานก่อสร้าง และเห็นว่ายังใช้โมเดลนี้ได้อีก 10-20 ปี เพราะไทยยังอยู่ในช่วงลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และถึงแม้ไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานครบแล้ว บริษัทยังสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เข่น เมียนมา