จับตาหุ้นเด่นวันนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 30, 2018 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

*PTTEP

-นสพ.รายงาน วันที่ 4 พ.ค.นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) จะเปิดให้ผู้สนใจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ในแหล่งเอราวัณและบงกชเข้ายื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (พรี ควาลิฟิเคชั่น เอวาลูเอชั่น) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีผู้ประกอบการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้ารับแบบฟอร์มเกี่ยวกับการประมูลก่อนเข้าร่วม การพิจารณาพรี ควาลิฟิเคชั่น เอวาลูเอชั่น แล้ว 5 ราย และยังต้องจับตาในช่วงเวลาที่เหลือก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาว่าจะมีเอกชนรายใดสนใจอีกหรือไม่

*KTB, KTC ,TMB

-นสพ.รายงาน KTB ยันไม่มีแผนควบรวม TMB ส่วนการจ่ายปันผลงวดปี 61 อาจลดลง เหตุต้องตั้งสำรองฯรองรับ IFRS9 ขณะที่ AQ เตรียมขายหนี้ยกเข่ง 6 มิ.ย.นี้ ด้าน "ผยง" ย้ำพร้อมไฟเขียวให้ "บัตรกรุงไทย" หรือ เคทีซี แตกพาร์

*BTS,CK,STEC,RATCH,ITD,PTT

-นสพ.รายงาน รัฐเร่งเครื่องไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ปลดล็อกสัดส่วนลงทุน ต่างชาติเกิน 50% ปลาย พ.ค.ออกทีโออาร์ เปิดยื่นซอง ต.ค. "ซีพี." ควงจีนจีบ "บีทีเอส-ซิโน-ไทย-ราชบุรีโฮลดิ้ง" แข่ง ปตท. อิตาเลียนไทย ผนึกทุนจีน ช.การช่าง เอาด้วย

*กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

-นสพ.รายงาน "รฟม." จ่อชงบอร์ดเดือน พ.ค.นี้ พิจารณาแผนร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ชี้ใช้ PPP Net Cost 1 รายรับทั้งงานก่อสร้างและเดินรถตลอดสาย ภาครัฐอุดหนุนไม่เกินมูลค่าโยธา 8.5 หมื่นล้านบาท

*AMATA

-นสพ.รายงาน ไตรมาสแรกปี 61 แนวโน้มกำไรเพิ่มจากปีก่อน หากเทียบไตรมาสจะต่ำลงเล็กน้อยจากยอดขายที่ดินอ่อนแอ คาดฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง ขณะนักลงทุนทิ้งหุ้น AMATA อย่างหนัก เมื่อต้นปี เพราะกังวลเรื่อง platform ธุรกิจของบริษัท เชื่อกระทบกับกำไรในอนาคตตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

*KKP

-นสพ.รายงาน ธนาคารเกียรตินาคินเปิดเผยว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.7% ปรับลดลงจาก 5% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากพอร์ตสินเชื่อขยายตัว และการแก้ไขหนี้เอ็นพีแอลเดิม และตัดหนี้สูญ (ไรท์ออฟ) สินเชื่อไม่มีหลักประกันบางส่วน แต่ไม่มีการขาย เอ็นพีแอลออก เพราะธนาคารเชี่ยวชาญบริหารหนี้และหลักประกัน

*กลุ่มมีเดีย

-นสพ.รายงาน ไบรท์ทีวี กล่าวหลังยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ว่า อีก 2-3 วันจะใช้มาตรา 44 ช่วยทีวีดิจิทัล 3 ประการว่า ถ้าออกมาจะช่วยเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้มีลมหายใจที่จะทำธุรกิจ ต่อไปได้ เนื่องจากสามารถนำเงินจากก้อนที่ต้องจ่ายให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะต้องจ่ายงวดที่ 5 วันที่ 23 พ.ค.นี้ และ เงินจ่ายผู้ประกอบการโครงข่าย ไปลงทุนคอนเทนต์ดีๆ เพื่อผู้บริโภคได้

-นสพ.รายงาน ชี้ทางรอดทีวีดิจิทัล คือคืนใบอนุญาต-ลดจำนวนเหลือแค่ 10 ช่อง ชี้ 3 มาตรการเยียวยาแค่ยืดระยะเวลาหายใจ พร้อมให้จัดกลุ่มทีวีวัดเรตติ้ง กระจายเม็ดเงินโฆษณา ประเมินเกมตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการดิ้นหันหาช่องทางออนไลน์เสริมเรียกคนดู

*CPALL

-นสพ.รายงาน โบรกฯเผยท่องเที่ยวโต หนุนรายได้เซเว่น อีเลฟเว่นโต ชี้นโยบายเน้นเปิดสาขาใหม่เพิ่มขนาดพื้นที่ เพิ่มโอกาสขายสินค้าขนาดใหญ่ขึ้น ลูกค้านำรถมาจอดได้ ทำให้ยอดซื้อต่อใบเสร็จมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

*BEC

-นสพ.รายงาน "ประวิทย์ มาลีนนท์" เผยลูกทั้ง 4 ขายหุ้นบีอีซีเวิลด์เกลี้ยงไม่ได้หมายความว่าจะทอดทิ้งช่อง 3 ยังทุ่มเททำงานเป็นพนักงานเหมือนเดิม แค่ไม่ได้รับเงินปันผล วิเคราะห์ทีวีดิจิทัลหลังออกอากาศครบ 4 ปี มีสัญญาณที่ดีขึ้น ประเมินเหลือ 12 ช่อง ส่วนกระแสฮิตละครบุพเพสันนิวาสนั้น ถือเป็นสิ่งที่สวรรค์ให้มา

*DTAC

-นสพ.รายงาน ทีโอที เปิดเผยว่า จากการทำสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมและสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศในระบบ 2300 เมกะเฮิรตซ์ กับบริษัทในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็กเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคนั้น ทีโอทีและดีแทคได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับติดตั้งเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์โทรคมนาคม โดยภายในปีนี้จะต้องติดตั้งให้ได้ 4,000 ต้น และ 16,000 ต้น ใน 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อให้โครงข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ

*TFG, CPF

-นสพ.รายงาน รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา สภาผู้ผลิตสุกรของสหรัฐ ได้ยื่นคำร้องขอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีสำหรับประเทศไทย ภายใต้กรณีการพิจารณาการดำเนินการของประเทศที่ได้รับสิทธิ เนื่องจากไทยไม่เข้าข่ายคุณสมบัติประเทศผู้ได้รับสิทธิด้านการเปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐอย่างเป็นธรรม และสมเหตุผล เพราะไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรของสหรัฐ ที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนตกค้าง แม้ไทยได้เคยแจ้งกับสหรัฐว่า จะแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับรองมาตรฐานสารตกค้างสูงสุดของสารเร่งเนื้อแดงดังกล่าวที่ โคเด็กซ์หรือโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ กำหนด

*TTCL

-นสพ.รายงาน ผู้ถือหุ้น ไฟเขียวแผนดันบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลท. เพื่อระดมทุนนำไปก่อสร้างโรงไฟฟ้า Ahlone 2 พร้อมอนุมัติเพิ่มทุนเป็น 896 ล้านบาท โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน 336 ล้านหุ้น ส่วนโรงไฟฟ้าคะฉิ่นยังรอ MOA จากรัฐบาลเมียนมา

*CPF

-นสพ.รายงาน เดินหน้าลงทุนเวียดนามมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ชูไตรมาส 1/61 เศรษฐกิจขยายตัว 7.40% การส่งออกโตมากกว่า 20% จากการมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป-สหรัฐอเมริกา

*THANA

-นสพ.รายงาน ตุนแบ็กล็อก 270-280 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีอยู่ พร้อมคงเป้ารายได้-ยอดขายปีนี้โต 10-15% จากปีก่อน เล็งเปิด 2 โครงการ มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท

*TACC, OISHI, ICHI

-นสพ.รายงาน ยักษ์เครื่องดื่มเปิดศึก "โลว์ชูการ์-แคลอรีต่ำ" รอบใหม่ แห่ปรับสูตรชิงตลาดหวานน้อย-หลบภาษีความหวาน รับเทรนด์สุขภาพสุดฮอต "อิชิตัน" เขย่าสูตรชาเขียว-เย็นเย็น ยักษ์ใหญ่ เตรียมยื่นขอโลโก้ "ทางเลือกเพื่อสุขภาพ" ด้านเครื่องดื่มโถกดในเซเว่นฯไม่พลาด เร่งปรับน้ำตาลให้เหลือไม่เกิน 6 มก./100 มล. หวังเซฟต้นทุน เหตุภาษีจะขยับเพดานขึ้นทุก 2 ปี

*PK

-นสพ.รายงาน บุกหนักตลาดสหรัฐ ยุโรป และออสเตรเลีย หวังขยายฐานลูกค้าเพิ่ม มั่นใจเริ่มสร้างรายได้ไตรมาส 3/2561 พร้อมอัพกำลังการผลิตเพิ่ม 20% รองรับงาน 2-3 ปี ตั้งเป้าปี 2561 รายได้ชน 5,000 ล้านบาท เดินหน้าออกสินค้าใหม่หนุนมาร์จิ้น

*CRD

-นสพ.รายงาน จ่อเซ็นสัญญารับงานใหม่ 200 ล้านบาท เร็วๆ นี้ รอลุ้นผลงานประมูลทั้งภาครัฐและเอกชนเพียบ เร่งปั๊มแบ็กล็อกแตะ 1.4 พันล้านบาทในไตรมาส 2/61 นี้ พร้อมดันสัดส่วนงานเอกชนเพิ่มเป็น 60% จากปีก่อนที่ 15%

*MGT

-นสพ.รายงาน ดีลควบรวมกิจการเคมีภัณฑ์ใกล้จบ บอสใหญ่ชี้งบไตรมาส 1/61 ไปได้สวย เดินหน้าขายสินค้าเซ็กเตอร์ใหม่ต่อเนื่อง ปักธงยอดขายปี 61 โต 13% แตะ 658 ล้านบาท ฟากโบรกฯชอบโมเดลธุรกิจ เหตุแข่งขันน้อย เคาะกำไรปีนี้พุ่ง 27% แตะ 60 ล้านบาท

*CSS

-นสพ.รายงาน ลั่นธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น เตรียมเข้าประมูลงานใหม่มูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท หวังได้งานเติม Backlog เพิ่ม การันตีรายได้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ยิ้มรับมติผู้ถือหุ้นปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท เคาะจ่ายวันที่ 25 พ.ค.นี้

*VNG

-นสพ.รายงาน จับตายอดขาย-กำไร ไตรมาส 2/2561 ฟื้นตัวสดใส ออเดอร์ผลิตภัณฑ์ไฮมาร์จิ้นต่างแดนไหลเข้าต่อเนื่อง-รับทรัพย์โครงการที่พักอาศัยในประเทศขยายตัว เตรียมเดินเครื่องกำลังผลิตแผ่นไม้เอ็มดีเอฟใหม่เต็มสูบ รองรับความต้องการที่ขยายตัว หนุนรายได้เติบโตตามเป้า 10%

*ABM

-นสพ.รายงาน แย้มออเดอร์ในประเทศไหลเข้าเพียบ หนุนยอดขายไตรมาส 2/2561 พุ่งขึ้น 30% อยู่ที่ 2.2 หมื่นตันต่อเดือน พร้อมดันรายได้เติบโต 15-20% จากปีก่อนที่ 1,246.06 ล้านบาท อัพสัดส่วนรายได้ต่างแดนเพิ่มเท่าตัว โฟกัสญี่ปุ่น-เกาหลี เป็นหลัก

*SCB, TCAP
-นสพ.รายงาน เดินหน้าวางระบบแพลตฟอร์มดิจิตอล ลูกค้ารายใหญ่ตั้งเป้าทั้งปี 10 รายมั่นใจช่วยดันเข้าสู่สังคมไร้เงินสด บริหารเพย์เมนต์มีประสิทธิภาพ ดันสินเชื่อทั้งปีโต 5-6% ด้าน "ธนชาต"ระบุไม่เน้นแข่งขันด้านราคา เน้นกลุ่มเติบโตทางเศรษฐกิจ เลี่ยงกลุ่มเสี่ยงอย่างเหล็ก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ