บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล ยื่น Filing version แรก เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2561 ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พิจารณา เนื่องจากบริษัทฯมีความประสงค์จะขอเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 1,370,000,000 หุ้น แบ่งป็น บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 1,174,286,000 หุ้น และผู้ถือหุ้นเดิม บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด (บริษัทลูกของบมจ.ไทยออยล์ (TOP)) เสนอขายหุ้นสามัญเดิมไม่เกิน 97,857,000 หุ้น, บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่างบมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กับบมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL)) เสนอขายหุ้นสามัญเดิมไม่เกิน 97,857,000 หุ้น โดยมีบริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด และธนาคารทหารไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
ทั้งนี้ บริษัทฯมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการผลิตก๊าซชีวภาพและไฟฟ้าจากกากหมักและหญ้าเนเปียร์ (โครงการ RAPTOR), ใช้เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน
บริษัทฯ ประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า บริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจร (Well-integrated Tapioca Player) รายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยมีการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตทั้งเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ผลพลอยได้ที่ได้จากการกระบวนการผลิต ซึ่งได้แก่ น้ำใช้จากกระบวนการผลิตและกากมันสำปะหลัง ยังนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพและกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้บางส่วนจะจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทฯ มีกำลังการผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งถือเป็นกำลังการผลิตต่อ 1 สายการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง บริษัทฯ ผลิตเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงซึ่งมีความบริสุทธิ์ 99.5% เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งได้แก่ BCP ,TOP, บมจ.ปตท. (PTT) , Shell และ Chevron เป็นต้น สำหรับนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ ปัจจุบัน บริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลรายใหญ่ของประเทศ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณการใช้เอทานอลทั้งหมด และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยในปี 2560 มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเกินกว่า 120 ล้านลิตร
สำหรับธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังทั้งเกรดอาหารและเกรดอุตสาหกรรม ภายใต้ เครื่องหมายการค้า "Sunflower" และ "ซันฟลาวเวอร์" มีกำลังการผลิต 700 ตันต่อวัน
ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2560 มีสินทรัพย์รวม 7,373.38 ล้านบาท หนี้สินรวม 4,432.04 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 2,941.35 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 4,689.33 ล้านบาท ต้นทุนขาย 3,628.91 ล้านบาท กำไรสุทธิ 308.18 ล้านบาท โดยมีรายได้หลักจากการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70-80 ของรายได้ทั้งหมด
ในอนาคต บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนในโครงการ RAPTOR ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท โครงการ RAPTOR หรือ Rapid Transformation Organic Residues คือ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ ขนาดกำลังการผลิต 160,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก๊าซชีวภาพ และผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ โดยวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต คือ กากหมัก ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเอทานอล และหญ้าเนเปียร์ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทฯ ยังไม่ได้นำกากหมักจากโรงงานเอทานอลมาใช้ประโยชน์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดประมาณ 15-20 ล้านบาทในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและกระแสไฟฟ้าใช้ภายในบริษัทฯ ทดแทนการซื้อไฟฟ้าจากภายนอก ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และงบประมาณโครงการ รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาออกแบบโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพและกระแสไฟฟ้า โดยจะพิจารณากำหนดการยื่นขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท และกำหนดการเริ่มสร้างโครงสร้างดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนจะติดตั้งอุปกรณ์จากบริษัทผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งได้แก่ GWE และว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์
นอกจากโครงการที่กล่าวข้างต้น บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตเอทานอลแห่งที่ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิต 900,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังการผลิตเดิมที่มีอยู่จำนวน 400,000 ลิตรต่อวัน จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเอทานอลรวม 1.3 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะถือเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในช่วงเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมของเอกสารที่สำคัญในการขยายธุรกิจนี้ อย่างไรก็ดี ก่อนการลงทุนในโครงการดังกล่าว บริษัทฯ จะพิจารณาสภาวะตลาด แนวโน้มความต้องการใช้และการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ตลอดจนนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นปริมาณการใช้เอทานอลในอนาคตก่อนเริ่มก่อสร้างโรงงานดังกล่าว ซึ่งอาจยังไม่ใช่อนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 3,914,286,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,914,286,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 9 เม.ย.2561 ประกอบด้วย บริษัท เอสทีเค แคปปิตอล จำกัด ถือหุ้น 548 ล้านหุ้น คิดเป็น 20% หลังเสนอขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 14%, บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด ถือหุ้น 583 ล้านหุ้น คิดเป็น 21.28% หลังเสนอขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดการถือหุ้นลงเหลือ 485.143 ล้านหุ้น คิดเป็น 12.39%, บริษัท บีบีจีไอ จำกัด ถือหุ้น 583 ล้านหุ้น คิดเป็น 21.28% หลังเสนอขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดการถือหุ้นลงเหลือ 485.143 ล้านหุ้น คิดเป็น 12.39%, บริษัท เค พลัส โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 460.52 ล้านหุ้น คิดเป็น 16.81% หลังเสนอขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 11.77%
บริษัทฯ มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังจากการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ