นางจิตรลดา เลขาพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ไอร่า (AS) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในเดือนพฤษภาคม ได้แรงเก็งกำไรประกาศผลประกอบการ ไตรมาส 1/2561 ถึงกลางเดือน พ.ค. รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 3 เดือนแรกในปีนนี้ เพิ่มขึ้น 15% อยู่ที่ 10.6 ล้านคน (รวมนักท่องเที่ยวจีน 3.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 31% ซึ่งดีกว่าเป้าหมายในปีนี้ที่คาดเติบโต 5-7% จาก 35.38 ล้านคน เมื่อปี 2560
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าราคาน้ำมัน ยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบของในอิหร่าน ซึ่งหากมีการยิงอาวุธนิวเคลียร์ และสหรัฐฯ ทำการคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีก 5 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งคาดว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ขยายระยะเวลาปรับลดการผลิตจากเดิมครบกำหนดปลายปีนี้
ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น โดยคาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ปี 2561 น่าจะมีการเติบโตมาอยู่ในระดับที่ 4.1-4.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี ภายใต้การเติบโตทุก ๆ อุตสาหกรรมโดยเฉพาะการส่งออก และท่องเที่ยว ที่โดดเด่น จึงมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาพรวมการลงทุน มาจาก Fund Flow ต่างชาติยังขายสุทธิตลอด 4 เดือนแรกของปี 2561 จำนวน 79,567 ล้านบาท แต่คาดภาพรวมยังได้รับการชดเชยจากแรงซื้อสุทธิของสถาบันในประเทศ แม้ช่วงปลายเม.ย. ที่ผ่านมา จะมีแรงขายสุทธิของสถาบันในประเทศออกมาบ้าง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ หลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปลายเม.ย. และขึ้นไประดับสูงสุดในรอบ 5 ปี แม้สะท้อนความแข็งแกร่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ต้นทุนเงินกู้ยืม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคาดกดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหุ้น และอาจทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า (คาดอีก 2 ครั้งในเดือนมิ.ย. และ ก.ย. สำหรับปี 2561)
นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 พ.ค.ภายใต้อัตราเงินเฟ้อ มี.ค.2561 ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.63% เมื่อเทียบเป้าหมายปี 2561 ที่ 2.5% ซึ่งบวก ลบ เพียง 1.5% จึงคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงประเด็นการเมือง หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจส่งผลต่อโรดแมพเลือกตั้งในเดือนก.พ. 2562 และความไม่แน่นอน และนโยบายของสหรัฐฯ ที่ออกมาอาจสร้างความผันผวน และส่งผลต่อความเชื่อมั่นลงทุน เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมี.ค. และเม.ย. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ประเมินกรอบดัชนีทางเทคนิคที่ 1,710 - 1,800 จุด จากปัจจัยหนุนจากปัจจัยในประเทศโดยเฉพาะทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคส่งออกและท่องเที่ยว แต่ภายใต้ความเสี่ยงจากประเด็นต่างประเทศ เช่น นโยบายการเงิน รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนนโยบายของสหรัฐฯ , Fund Flow ออกจาก Emerging Market รวมถึงไทย จากความกังวลว่าเฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น หาก Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมคาดอาจเผชิญแรงขายทำกำไร (Sell on Fact) หลังหมดช่วงประกาศผลประกอบการกลางเดือนพ.ค. นี้
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนภายใต้ประเด็นความน่าสนใจเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ตามราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น PTTGC , กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยว เช่น AOT , กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม TV Digital เช่น WORK, กลุ่มธุรกิจการเงิน เช่น MTC (MTLS เดิม) และหุ้นที่มีปัจจัยความน่าสนใจเฉพาะตัวในเชิงพื้นฐาน เช่น AP, HANA และ UNIQ เป็นต้น