B ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 2 เท่าจากปีก่อน หวังมีกำไรจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ, หันเน้นลูกค้าอีคอมเมิร์ช-พลังงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 3, 2018 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศ์ศิริ ศิริธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี จิสติกส์ (B) เปิดเผยว่า บริษัทปรับโครงสร้างการบริหารครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับเปลี่ยนชื่อองค์กรจากเดิมชื่อบมจ.บางปะกง เทอร์มินอล (BTC) มาเป็นชื่อบมจ.บี จิสติกส์ รวมถึงรีแบรนด์ดิ้งโลโก้ใหม่เพื่อเน้นความทันสมัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจ ซึ่งนอกเหนือจากให้บริการท่าเรือ, ลานตู้คอนเทนเนอร์ และคลังสินค้า ยังเพิ่มการให้บริการด้านการขนส่งระหว่างประเทศ, การดำเนินพิธีการศุลกากร, การบริการจัดการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้รายได้ปีนี้เติบโต 2 เท่า จากระดับ 125 ล้านบาทในปีก่อน และคาดหวังจะกลับมาทำกำไรได้จากที่ขาดทุน 56.13 ล้านบาทปีที่แล้ว

สำหรับการปรับโครงสร้างของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนขายผู้ถือหุ้นเดิมบางส่วน และขายให้บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL) จำนวน 200 ล้านหุ้น ซึ่งคณะกรรมสรรหาได้ทาบทามตนเองเข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ เมื่อเดือนมี.ค.61

"จากประสบการณ์ที่ทำงานในวงการโลจิสติกส์มานาน และหลายรูปแบบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขนส่งทางเรือ ทางอากาศ การขนส่งสินค้าเร่งด่วน คอนเทนเนอร์และอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ทำให้ผมมั่นใจว่าจะสามารถนำมาพัฒนาบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง"นายพงศ์ศิริ กล่าว

นายพงศ์ศิริ กล่าวว่า บริษัทได้เพิ่มการให้บริการด้านการขนส่งระหว่างประเทศ, การดำเนินพิธีการศุลกากร, การบริการจัดการด้านโลจิสติกส์กับโครงการขนาดใหญ่, การบริการขนส่งด้วยกองรถเทรลเลอร์ของตัวเอง และการให้คำปรึกษาด้านการค้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมโลจิสติกส์กับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นขยายการให้บริการ และวางกลยุทธ์ทางธุรกิจบริษัทให้เป็นผู้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร (Integrated logistics service provider) และสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ กับกลุ่มลูกค้าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้ความได้เปรียบในเชิงที่ตั้งจุดยุทธศาสตร์ของท่าเรือเดิมที่มีอยู่ในการรองรับการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ส่วนนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการกับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ด้าน Digital logistics ที่จะรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ชในอนาคต โดยตั้งแผนกการดำเนินการที่เรียกว่า B2D – Begistics to Digital ซึ่งทางบริษัทเริ่มเจรจากับกลุ่มธุรกิจและลูกค้าในตลาดดังกล่าว และการเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งพลังงาน ซึ่งได้เซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ระหว่าง บี จีสติกส์ กับผู้ประกอบการณ์ธุรกิจพลังงานก๊าซฯ อย่างบริษัท บางกอก อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ไปมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทจึงได้ตั้งแผนกการดำเนินการที่เรียกว่า B2E – Begistics to Energy

นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทยังวางแผนขยายการเชื่อมโยงการให้บริการกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโต ซึ่งบริษัทวางแผนด้านยุทธ์ศาสตร์ทางธุรกิจให้สอดคล้องการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ต่อไป สำหรับในการนำทัพของตนครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการปรับแผนและพลิกฟื้นผลประกอบการในการบริหารงานในอดีตที่ผ่านมา โดยบริษัทตั้งเป้าการเติบโตรายได้ทุก ๆ ไตรมาสในปีนี้ จากแผนการปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ทางธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้ผลประกอบการอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

โดยเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่จะเติบโต 2 เท่านั้น จะมาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ และทยอยปรับสัดส่วนกลุ่มลูกค้าให้กระจายไปสู่กลุ่มอื่น ๆ เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 90% โดยที่บริษัทจะหันมากระจายไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายอื่น ๆ เช่น กลุ่มลูกค้าพลังงาน กลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ช กลุ่มลูกค้ายานยนต์ และกลุ่มลูกค้าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มเข้ามาเสริม เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับบริษัท

ส่วนแผนการกระจายสัดส่วนกลุ่มลูกค้าของบริษัทในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) จะลดสัดส่วนกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหนักให้ลดลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 50% และจะเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าพลังงาน และอีคอมเมิร์ชเป็น 20% ในแต่ละกลุ่ม ส่วนที่เหลือจะเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่น โดยในแง่ของการรุกเข้าไปจับกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ชนั้น บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในประเทศ เพื่อเข้ามาเสริมศักยภาพการขยายงานพร้อมกับการขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยจะยังคงเน้นการขยายเครือข่ายอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ซึ่งบริษัทจะเข้าไปต่อยอดในด้านการให้บริการเสริมต่าง ๆ ในระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้มีการบริการที่ครบวงจร ซึ่งมีประเทศเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายเพิ่มเติม คือ ประเทศเกาหลีใต้

"มองโอกาสการขยายงานโลจิสติกส์ไปในต่างประเทศเป็นสิ่งที่บริษัทจะผลักดันมากขึ้น เพราะในต่างประเทศเป็นโอกาสของเราที่มีฐานลูกค้ามากขึ้น และมีการใช้บริการต่าง ๆ ในระบบโลจิสติกส์ที่มีอยู่มาก ซึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับเราด้วย และการแข่งขันก็ไม่รุนแรงเท่ากับการแข่งขันในประเทศ โดยปัจจุบันการขนส่งของบริษัทมีสัดส่วนการขนส่งในประเทศ 50% การขนส่งระหว่างประเทศ 30% และท่าเรือ 20%"นายพงศ์ศิริ กล่าว

นายพงศ์ศิริ กล่าวว่า สำหรับการขยายจำนวนรถบรรทุกเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาตามปริมาณงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีจำนวนรถบรรทุกแบบหัวลากอยู่ทั้งหมด 40 คัน และมีรถบรรทุกแบบหัวรถลากที่ร่วมกับพันธมิตรรวม 100 คัน ซึ่งสามารถรองรับงานได้เพียงพอในปัจจุบัน ส่วนจำนวนพนักงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 40 คน เป็น 170 คน ซึ่งปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทมีการขยายงานต่าง ๆ มากขึ้น ส่วนแผนการลงทุนอื่น ๆ ในอนาคตอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยที่บริษัทยังมีที่ดินเปล่าในอ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เหลือรอการพัฒนาอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ