โบรกเกอร์ เชียร์"ซื้อ"หุ้นบมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) เล็งกำไรปีนี้เติบโตดีอยู่ในช่วง 1.5-1.52 พันล้านบาท จากระดับ 1.13 พันล้านบาทในปีที่แล้ว ตามแนวโน้มยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ที่คาดว่าจะสดใส โดยเฉพาะรถบรรทุก ส่วนหนึ่งรับผลจากการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาลีบาบา กรุ๊ป ทำให้เกิดการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นหนุนความต้องการใช้รถบรรทุกเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่ยังไม่ปรับขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำด้วย
THANI จัดเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีการตั้งสำรองฯไว้มากเพียงพอที่จะรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ได้ และตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ก็ยังไม่สูงมาก รวมถึงคาดว่า THANI จะได้รับผลกระทบน้อยจากร่างกฎหมายการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งรัฐบาลมุ่งที่จะกำกับดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าปกตินั้น เนื่องจาก THANI ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่
พักเที่ยงราคาหุ้น THANI อยู่ที่ 8.10 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 1.22% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.05%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 9.80 เอเอสแอล ซื้อ 9.50 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 9.60 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 9.20 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 9.00
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลกำไรของ THANI ในปีนี้คาดว่าจะดี จากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก ซึ่ง THANI จะปล่อยสินเชื่อรถเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งปีนี้ธุรกิจโลจิสติกส์มีการเติบโตมาก ไม่ว่าจะมาจากเรื่องการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาลีบาบา กรุ๊ป ทำให้เกิดการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้รถบรรทุกก็มีเพิ่มขึ้นด้วย โดยการเติบโตของ THANI เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น
THANI จัดเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีการตั้งสำรองฯไว้มากเพียงพอที่จะรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ได้ อีกทั้งเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของธนชาตด้วย ประกอบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ยังไม่สูงมาก รวมไปถึงกฎหมายใหม่ของธุรกิจเช่าซื้อก็ไม่มีผลต่อ THANI อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยในปีนี้ก็ยังไม่ปรับขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินของ THANI ยังต่ำ อย่างไรก็ตามหากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยมีทิศทางปรับขึ้น ก็เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็จะออกหุ้นกู้ เพื่อล็อกดอกเบี้ยไปอีกสักระยะ ซึ่งก็ทำให้ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ
พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิของ THANI ในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.13 พันล้านบาทในปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.8 พันล้านบาทในปี 62
ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น THANI ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 61 ขึ้น 7% เป็น 1.52 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อน เนื่องจากปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อจากเดิมที่ 15% เป็น 20% หลังในช่วงไตรมาส 1/61 สินเชื่อเติบโต 6.4% ขณะที่เป้าหมายของ THANI อยู่ในระดับที่มากกว่า 12% ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มยอดขายรถเชิงพาณิชย์ที่สดใสโดยเฉพาะรถบรรทุก นอกจากนี้ยังได้ปรับเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) เป็น 5% จากเดิม 4.74%
พร้อมคงประมาณการต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ(Credit Cost) ที่ 0.95% ขณะที่ในไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 1.2% โดยคาดการณ์การตั้งสำรองทั่วไป (General provision) ที่น้อยลงในครึ่งหลังของปีนี้ และคาดการณ์อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม (Cost to income ratio) ที่ 19% ส่วนประเด็นความเสี่ยงด้านกฏหมายการกำหนดค่าธรรมเนียมของธุรกิจเช่าซื้อปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบรายได้ค่าทวงหนี้ (ผ่านโทรศัพท์) นอกจากนั้นไม่มีผลกระทบ จึงยังไม่ได้รวมกรณีนี้ในประมาณการ และคาดว่า THANI น่าจะได้รับผลกระทบน้อย
ด้านบทวิเคราะห์บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่าปรับราคาเป้าหมายสำหรับหุ้น THANI ขึ้นเป็น 9.80 บาท จากแนวโน้มธุรกิจของ THANI ที่มีศักยภาพเติบโตดีตามยอดขายรถบรรทุกที่ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังถือเป็นหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 21-22%
ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการกำไรของ THANI ในปีนี้ขึ้นอีก 13% มาที่ระดับ 1.5 พันล้านบาท จากแนวโน้มสินเชื่อที่น่าจะเติบโตสูงในปีนี้ โดยในไตรมาส 1/61 สินเชื่อเติบโต 6.4% นับจากต้นปี ทำให้ปรับอัตราการเติบโตของสินเชื่อขึ้นจากเดิมที่ 12% เป็น 18% ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ยังมีแนวโน้มลดต่ำลงอีกได้จากการออกหุ้นกู้ทดแทนดอกเบี้ยจ่ายในอดีตที่มีต้นทุนสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปรับประมาณการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 4.7% จากเดิม 4.4%
สำหรับร่างพ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ที่กำลังจะออกมาคาดว่าจะไม่กระทบต่อ THANI มากนัก เนื่องจาก THANI ปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ลูกค้ารายย่อย โดยเชื่อว่าทางการเน้นควบคุม consumer finance ที่เอาเปรียบลูกค้ารายย่อย สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยเฉพาะการทวงหนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด
THANI ประกาศกำไรไตรมาส 1/61 สูงถึง 364 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.8% จากงวดปีก่อนเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 24.5% จากสินเชื่อที่โตขึ้นและการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ,รายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังเติบโตสูงถึง 17.4% ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองลดลง 11.1% หากเทียบกับไตรมาสก่อน จะเห็นว่ากำไรยังเพิ่มขึ้น 13.6% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังคงเติบโตขึ้นขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง