(เพิ่มเติม) PTTEP-เชฟรอน-มูบาดาลาฯ-โอเอ็มวีฯ-โททาล-กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาดฯ ยื่นเจตจำนงร่วมพิจารณาคุณสมบัติประมูลบงกช-เอราวัณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 4, 2018 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า วันนี้กรมเชื้อเพลิงฯ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) เข้ายื่นแสดงความจำนงเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีบริษัทเข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น จำนวน 6 บริษัท

ประกอบด้วย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) , บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ,บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท ,บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และ กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber gruop

สำหรับขั้นตอนต่อไป บริษัทที่เข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงดังกล่าว จะต้องนำเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติเบื้องต้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ มายื่นให้กรมเชื้อเพลิงฯในระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค.61 ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 10 วัน และจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61

ทั้งนี้ การประมูลครั้งนี้นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ประกอบการสนใจที่จะยื่นประมูลข้ามแหล่ง โดยไม่ได้ยึดติดเฉพาะแหล่งที่เป็นผู้ดำเนินการ (operator) โดยคาดว่าการลงทุนใน 2 แหล่งดังกล่าวภายหลังหมดอายุสัมปทาน คาดว่าจะมีเม็ดเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้แก่ประเทศราว 2.1 ล้านล้านบาท และสร้างกำไร 9 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้คาดจะเป็นรายได้ของรัฐไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท และที่สำคัญเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ 10 ปี การให้น้ำหนัก 65% จากการพิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติ ที่จะต้องไม่สูงเกินจากราคาปัจจุบัน ยังทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ ก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้ามีผู้ประกอบการ 3 รายเดินทางมายื่นแสดงเจตจำนงเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 2 แหล่ง ได้แก่ PTTEP ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช ในปัจจุบัน , เชฟรอนฯ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ ในปัจจุบัน และมูบาดาลาฯ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ต่อมาในช่วงบ่าย มีผู้ประกอบการอีก 3 รายเข้ามายื่นแสดงเจตจำนง ได้แก่ บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท ,บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber gruop

ทั้งนี้ ตามกำหนดเวลาทุกรายต้องยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15-16 พ.ค.61 ,ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61 และผู้มีคุณสมบัติจัดเตรียมการยื่นข้อเสนอวันที่ 7 มิ.ย.-21 ก.ย.61 และให้ยื่นข้อเสนอการประมูลในวันที่ 25 ก.ย.61 ขณะที่คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือน ธ.ค.61 และลงนามในสัญญา เดือน ก.พ.62

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าจะชนะการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในประเทศไทยกว่า 30 ปีและมีเทคโนโลยีทั่วโลก จะช่วยทำให้มีต้นทุนต่ำสามารถแข่งขันได้ ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ทั้งเรื่องราคาก๊าซฯที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน และปริมาณกำลังผลิตขั้นต่ำที่กำหนด 10 ปีใน 2 แหล่งรวมกันกำลังผลิตจะไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน แยกเป็นแปลงหมายเลข G1/61 ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และ G2/61 ปริมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ส่วนเชฟรอนฯจะยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่ง หรือจะร่วมทุนกับรายใดเข้าประมูล โดยเฉพาะ PTTEP หรือไม่นั้น ในขั้นตอนเหล่านี้ ยังมีระยะเวลาตัดสินใจ ศึกษาข้อมูลจาก TOR , การเข้าดูข้อมูลก่อนจะตัดสินใจก่อนยื่นข้อเสนอในวันที่ 25 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามหากเชฟรอนฯไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ ก็จะยังลงทุนในประเทศไทยต่อไปเพราะยังมีแหล่งอื่น ๆ ที่มีสัญญาผลิตต่อเนื่อง

ปัจจุบันเชฟรอนฯผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในไทย รวม 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากแหล่งเอราวัณ ราว 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ,ผลิตคอนเดนเสท 5-6 หมื่นบาร์เรล/วัน ,ผลิตน้ำมัน 5-6 หมื่นบาร์เรล/วัน มีพนักงานเป็นคนไทยถึง 90% จากพนักงานประจำ 1,600 คน และ พนักงานที่จ้างบริการ 1,000 คน

ด้านนายราเชด อัล บลูชิ กรรมการผู้จัดการ ของมูบาดาลาฯ กล่าวว่า บริษัทมีวงเงินที่จะเข้าร่วมประมูล และกลุ่มบริษัทมีประสบการณ์การลงทุนทั่วโลก โดยมีบริษัทแม่ คือ Mubadala Investment Company (MIC) เป็นบริษัทกองทุนเชิงกลยุทธ์ของยูเออี ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งมีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน จึงมั่นใจว่าจะเป็นยุทธศาตร์ในการแข่งขันประมูลครั้งนี้ รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย ส่วนการยื่นประมูลจะเป็นการร่วมทุนกับรายใดหรือไม่นั้น ต้องขอศึกษาข้อมูลทั้งหมดก่อน

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังผลิตน้ำมันดิบในไทยประมาณ 3 หมื่นบาร์เรล/วัน ใน 3 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งมโนราห์ แหล่งนงเยาว์ และแหล่งจัสมิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ