(เพิ่มเติม1) PTTEP-เชฟรอน-มูบาดาลาฯ-โอเอ็มวีฯ-โททาล-กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาดฯ ยื่นเจตจำนงร่วมพิจารณาคุณสมบัติประมูลบงกช-เอราวัณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 4, 2018 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า วันนี้กรมเชื้อเพลิงฯ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) เข้ายื่นแสดงความจำนงเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีบริษัทเข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น จำนวน 6 บริษัท

ประกอบด้วย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) , บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ,บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท ,บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และ กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber gruop

สำหรับขั้นตอนต่อไป บริษัทที่เข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงดังกล่าว จะต้องนำเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติเบื้องต้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ มายื่นให้กรมเชื้อเพลิงฯในระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค.61 ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 10 วัน และจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61

ทั้งนี้ การประมูลครั้งนี้นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ประกอบการสนใจที่จะยื่นประมูลข้ามแหล่ง โดยไม่ได้ยึดติดเฉพาะแหล่งที่เป็นผู้ดำเนินการ (operator) โดยคาดว่าการลงทุนใน 2 แหล่งดังกล่าวภายหลังหมดอายุสัมปทาน คาดว่าจะมีเม็ดเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้แก่ประเทศราว 2.1 ล้านล้านบาท และสร้างกำไร 9 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้คาดจะเป็นรายได้ของรัฐไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท และที่สำคัญเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ 10 ปี การให้น้ำหนัก 65% จากการพิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติ ที่จะต้องไม่สูงเกินจากราคาปัจจุบัน ยังทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ ก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้ามีผู้ประกอบการ 3 รายเดินทางมายื่นแสดงเจตจำนงเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 2 แหล่ง ได้แก่ PTTEP ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช ในปัจจุบัน , เชฟรอนฯ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ ในปัจจุบัน และมูบาดาลาฯ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ต่อมาในช่วงบ่าย มีผู้ประกอบการอีก 3 รายเข้ามายื่นแสดงเจตจำนง ได้แก่ บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท ,บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber gruop

ทั้งนี้ ตามกำหนดเวลาทุกรายต้องยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15-16 พ.ค.61 ,ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61 และผู้มีคุณสมบัติจัดเตรียมการยื่นข้อเสนอวันที่ 7 มิ.ย.-21 ก.ย.61 และให้ยื่นข้อเสนอการประมูลในวันที่ 25 ก.ย.61 ขณะที่คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือน ธ.ค.61 และลงนามในสัญญา เดือน ก.พ.62

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าจะชนะการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในประเทศไทยกว่า 30 ปีและมีเทคโนโลยีทั่วโลก จะช่วยทำให้มีต้นทุนต่ำสามารถแข่งขันได้ ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ทั้งเรื่องราคาก๊าซฯที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน และปริมาณกำลังผลิตขั้นต่ำที่กำหนด 10 ปีใน 2 แหล่งรวมกันกำลังผลิตจะไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน แยกเป็นแปลงหมายเลข G1/61 ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และ G2/61 ปริมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ส่วนเชฟรอนฯจะยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่ง หรือจะร่วมทุนกับรายใดเข้าประมูล โดยเฉพาะ PTTEP หรือไม่นั้น ในขั้นตอนเหล่านี้ ยังมีระยะเวลาตัดสินใจ ศึกษาข้อมูลจาก TOR , การเข้าดูข้อมูลก่อนจะตัดสินใจก่อนยื่นข้อเสนอในวันที่ 25 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามหากเชฟรอนฯไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ ก็จะยังลงทุนในประเทศไทยต่อไปเพราะยังมีแหล่งอื่น ๆ ที่มีสัญญาผลิตต่อเนื่อง

ปัจจุบันเชฟรอนฯผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในไทย รวม 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากแหล่งเอราวัณ ราว 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ,ผลิตคอนเดนเสท 5-6 หมื่นบาร์เรล/วัน ,ผลิตน้ำมัน 5-6 หมื่นบาร์เรล/วัน มีพนักงานเป็นคนไทยถึง 90% จากพนักงานประจำ 1,600 คน และ พนักงานที่จ้างบริการ 1,000 คน

ด้านนายราเชด อัล บลูชิ กรรมการผู้จัดการ ของมูบาดาลาฯ กล่าวว่า บริษัทมีวงเงินที่จะเข้าร่วมประมูล และกลุ่มบริษัทมีประสบการณ์การลงทุนทั่วโลก โดยมีบริษัทแม่ คือ Mubadala Investment Company (MIC) เป็นบริษัทกองทุนเชิงกลยุทธ์ของยูเออี ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งมีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน จึงมั่นใจว่าจะเป็นยุทธศาตร์ในการแข่งขันประมูลครั้งนี้ รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย ส่วนการยื่นประมูลจะเป็นการร่วมทุนกับรายใดหรือไม่นั้น ต้องขอศึกษาข้อมูลทั้งหมดก่อน

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังผลิตน้ำมันดิบในไทยประมาณ 3 หมื่นบาร์เรล/วัน ใน 3 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งมโนราห์ แหล่งนงเยาว์ และแหล่งจัสมิน

ด้านนายยุทธ เพียรดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานสะอาด 101 จำกัด กล่าวว่า บริษัทสนใจร่วมประมูลทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตร จัดตั้ง "กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101" ซึ่งร่วมกับบริษัท Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group จากจีน และ AL Jaber group จากยูเออี โดยบริษัทถือหุ้นสัดส่วน 35% , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group ถือหุ้น 50% และ AL Jaber group ถือหุ้น 15%

อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมแข่งขันด้านราคาก๊าซฯกับคู่แข่ง และมั่นใจว่าจะชนะการประมูล เนื่องจากบริษัท Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group จากจีน มีประสบการณ์ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ขณะที่ AL Jaber group มีเงินทุนจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ