BCPG ตั้งงบ 7 พันลบ. ผลิตไฟฟ้า 100-200 MW ในนิคมฯ Smart Park รองรับลงทุนพื้นที่ EEC คาดเสร็จปี 64

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 8, 2018 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการลงทุนบริหารจัดการพลังงานทดแทนและลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการร่างรายละเอียดต่าง ๆ ในการจัดการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท และมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ในปลายปีนี้ มีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี แล้วเสร็จในราวปี 64

สำหรับรูปแบบที่จะดำเนินการจัดการภายในนิคมฯ จะมีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้า เพื่อให้มีการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาของผู้ใช้แต่ละรายได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทมีความพร้อมในการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีศักยภาพในการลงทุนราว 30,000-50,000 ล้านบาท ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเพื่อลงทุนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ BCPG และพันธมิตร รวม 6 ราย ซึ่งรวมถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมลงนาม MOU เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม Smart Park พื้นที่ราว 1,500 ไร่ ซึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือนวัตกรรมในการต่อยอด โดย BCPG จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารพลังงานทดแทน รวมทั้งร่วมลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน

ขณะที่ปัจจุบัน BCPG อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการชุมชนพลังงานสีเขียวอัจฉริยะ (Smart Green Energy Community) ในพื้นที่โครงการ "Sansiri Town Sukhumvit 77" หรือ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ของบมจ.แสนสิริ (SIRI) โดยเฟสแรก มีผู้ร่วมโครงการ 3 หน่วยงานหลักได้แก่ โครงการฮาบิโตะมอลล์ กำลังการผลิตติดตั้ง 55 กิโลวัตต์ (KW) โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ กำลังการผลิตติดตั้ง 230 กิโลวัตต์ และโครงการคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ พาร์ค คอร์ท สุขุมวิท 77 (Park Court Sukhumvit 77) โดย บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 180 กิโลวัตต์ รวมประมาณ 500 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 0.5 เมกะวัตต์

โดยขณะนี้ บริษัทได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ฮาบิโตะมอลล์เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มทำการจำหน่ายไฟฟ้าได้ในต้นเดือนมิ.ย.นี้ และจะดำเนินการติดตั้งหลังคาเป้าหมายอื่น ๆ ในโครงการ T77 ต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากบริษัทได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว บริษัท พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพันธมิตรจะเข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer trading และการบริหารจัดการไฟฟ้า โดยการนำ Blockchain Technology มาซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการพัฒนา Smart Community ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองและซื้อขายกันได้ด้วยการใช้นวัตกรรมล้ำสมัยเข้ามาช่วย รวมถึงดูแลจัดการบริหารไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างครบวงจร ด้วยการจัดการการใช้ไฟฟ้าให้ตอบสนองต่อความต้องการการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาของผู้ใช้แต่ละรายให้มากที่สุด เป็นจุดเริ่มในการสร้างโอกาสให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ทั่วโลก สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ ตามแนวคิด "Energy for Everyone" ของบริษัท

"ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการพูดคุยเจรจาและทำข้อตกลงกับพันธมิตรหลากหลายหน่วยงานในเรื่องนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแสนสิริ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) บางจากคอร์ปอเรชั่น และบางจากรีเทล และยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายราย เป็นสัญญาณที่ดีว่าเรากำลังร่วมกันปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม"นายบัณฑิต กล่าว

BCPG เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในเครือบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) โดยดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดั้งเดิมที่มีการนำส่งไฟฟ้าที่ขายได้เข้าสู่ระบบสายส่งของรัฐ หรือการไฟฟ้าในระดับท้องถิ่น (Wholesale) และขยายไปสู่การทำธุรกิจกับผู้บริโภคโดยตรง (Retail) ด้วยการนำโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป และระบบบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ BCPG มีพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ จากออสเตรเลีย เป็นพันธมิตร โดยพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มตัวกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Peer-to-Peer ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยนำแนวคิดการจัดการธุรกรรมผ่าน Smart Contract ชั้นนำระดับโลกอย่าง Blockchain มาใช้ โดยพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ และพันธมิตร ได้ดำเนินโครงการลักษณะดังกล่าวในประเทศออสเตรเลีย ภายใต้โครงการWhite Gum Valley ที่บริเวณใกล้เมืองฟรีแมนเทิล รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

นายบัณฑิต กล่าวว่า โครงการ White Gum Valley เป็นหนึ่งในโครงการแรก ๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในระบบผลิตและซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยพลังงานแสงอาทิตย์นับเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย โดยประชากรถึงหนึ่งในสี่ครัวเรือนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

โครงการดังกล่าวมีผู้อยู่อาศัยจำนวน 80 ครัวเรือน ประกอบด้วยห้องพัก และทาวน์เฮ้าส์ที่ใช้แผงโซลาร์ 150 กิโลวัตต์ ในการผลิตไฟฟ้า และแบตเตอรี่ 300 กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWh) กักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้ ผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างสมดุลการใช้พลังงานระหว่างพลังงานที่มาจากสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ และที่มาจากเครือข่ายไฟฟ้าของเวสเทิร์น พาวเวอร์ ซึ่งเป็นการไฟฟ้าระดับท้องถิ่นของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

ด้านนายเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ เปิดเผยว่า การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้า เป็นความร่วมมือระหว่างพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ กับ เวสเทิร์น พาวเวอร์ (Western Power) และมหาวิทยาลัยเคอร์ทิน (Curtin University) โดยการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชนนี้ได้ถึง 70%

นอกเหนือจากออสเตรเลียแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ฯลฯ และเมื่อเร็วๆ นี้ พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทผลิตไฟฟ้าใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่น Kansai Electric Power Co. (KEPCO) ในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาบริหารจัดการไฟฟ้า โดยในเฟสแรกจะทดลองใช้เทคโนยีดังกล่าวกับชุมชนประมาณ 10 หลังคาเรือน และล่าสุด ได้ร่วมมือกับ Clean Energy Blockchain Network และมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในสหรัฐอเมริกา นำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ในประเทศสหรัฐอมริกา หลังจากได้เริ่มทำโครงการทดลองในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศไทย และอินเดีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ