นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ปัญหาบมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) อาจดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ การใช้มาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 เพื่อปลดล็อกให้สามารถเรียกประชุมผู้ถือหุ้น โดยจะต้องคำนึงถึง 1.ความเป็นผู้ถือหุ้นมีครบจำนวน 10% จากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น (มาตรา 61) หรือใบหุ้น (มาตรา 58) 2.กำหนดเรื่องที่ร้องขอให้ที่ประชุมพิจารณา และ 3.ผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการจัดประชุมได้ โดยคณะกรรมการต้องอำนวยความสะดวกตามสมควร เป็นต้น
ส่วนอีกแนวทาง คือ การประชุมผู้ถือหุ้นที่เรียกโดยคณะกรรมการ ซึ่งกรมฯ ได้มีประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่ขอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อขัดข้อง โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเร่งพิจารณาข้อวินิจฉัยดังกล่าวให้และคาดว่าจะตอบกลับกรมฯ ในเร็วๆ นี้
อนึ่ง วานนี้ (8 พ.ค.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เข้าชี้แจงข้อขัดข้องทางกฎหมายบริษัทมหาชนกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยหยิบยกประเด็นของ IFEC มาเป็นตัวอย่าง เพื่อหาทางออกแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นางกุลณี กล่าวว่า หากกฤษฎีกามีผลการพิจารณาและส่งกลับมาแล้ว กรมฯ จะรีบแจ้งให้แก่ ก.ล.ต. และ ตลท. จากนั้นจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อวางแนวทางปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนเร่งดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วนต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ และให้หุ้นของ IFEC สามารถกลับมาซื้อ-ขายได้อีกครั้ง
"กรณีของ IFEC นี้ ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญที่จะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่ตลาดทุนของไทย รวมถึง ผลการพิจารณาฯ ของ สคก. จะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้กลับมาอีกครั้ง"นางกุลณี กล่าว
นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมเดินหน้ากำหนดแนวทางปฏิบัติการจัดประชุมของคณะกรรมการบริษัทมหาชนเพื่อให้สอดคล้องกับผลการพิจารณาของกฤษฎีกาต่อไป