นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 536 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.59% โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.22% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,563 ล้านบาท
เนื่องจากยอดสินเชื่อใหม่เติบโตมากขึ้น โดยมีสินเชื่อคงค้างไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 3.8 หมื่นล้านบาท จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ ขณะเดียวกันบริษัทฯสามารถรักษาระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ไว้ในระดับ 1.29% ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้นด้วย
"ภาพรวมการดำเนินธุรกิจไตรมาส 1/2561 เติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมีการเติบโตระดับ 40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ หรือ NPL ให้อยู่ระดับไม่เกิน 1.5% รวมทั้งการเปิดสาขาใหม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปัจจุบันเปิดสาขาเพิ่มแล้วนับตั้งแต่ต้นปีสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.61 จำนวน 214 แห่ง จากเป้าหมาย 600 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จึงรวมเป็นจำนวนสาขาทั้งสิ้น 2,637 แห่ง"นายชูชาติกล่าว
นายชูชาติ กล่าวว่า ผลงานไตรมาส 1 ปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้มั่นใจว่าภาพรวมทั้งปีจะสามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ คือ เติบโต 40% โดยคาดว่ารายได้จะทะลุ 1 หมื่นล้านบาท และคาดกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องจากปีก่อนที่ทำได้ 2,501 ล้านบาท เป็นไปตามยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ยังเติบโตได้ดี
สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ น่าจะทำสถิติใหม่เช่นกัน ประเมินว่าจะทำได้เกิน 8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 40% จากปีก่อน ขณะที่ปี 62 และปี 63 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตเฉลี่ยมากกว่า 35% ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนของภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจับจ่ายของภาคประชาชน ซึ่งสินเชื่อก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นธุรกิจของ MTC น่าจะยังเป็นขาขึ้นอย่างน้อยอีก 3 ปี
นายชูชาติ กล่าวว่า การที่ภาครัฐออกพ.ร.บ.กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินฉบับใหม่นั้นมีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดดอกเบี้ยไว้ที่ 15% ตามที่นักลงทุนมีความกังวล แต่ให้คิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ และเมื่อมีการบังคับใช้จะส่งผลดีกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการดูแลให้การให้บริการทางการเงินมีคุณภาพ ประชาชนได้รับการดูแลไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกกลุ่มทุนนอกระบบ ที่สำคัญ คือการก่อเกิดหน่วยงานกำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการทำงานง่ายขึ้นด้วยและมีความเท่าเทียมในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้กรณีที่มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีการตั้งสำรองสูงอยู่แล้วประมาณ 260% มากกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่อยู่เฉลี่ย 120%