ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ร่วมกับบลจ.ไทยพาณิชย์ เสนอขาย 2 กองทุนธีมเอเชีย ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ THB เฮดจ์ และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียแปซิฟิค อินคัมพลัส โดยทั้ง 2 กองทุนลงทุนในกองทุนหลักที่มุ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีที่ตั้งหรือมีธุรกิจหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น หลังมองเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในระดับกลางที่ 5.9% โดยน้ำหนักการลงทุนไปที่จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซียและไทย เนื่องจากการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกจะช่วยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเอเชีย
นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดการลงทุนทั่วโลกค่อนข้างผันผวน จากปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น การประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและกฎหมายข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะขยายตัว 3.4% ในปี 2561 จาก 3.3% ในปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เป็น 2.5% ในปี 2561 จาก 2.4% ในปี 2560
นักวิเคราะห์ซิตี้ ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อสินทรัพย์กลุ่มตราสารทุนทั่วโลกมากกว่าตราสารหนี้ โดยเน้นไปที่ภูมิภาคยุโรปและตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงภูมิภาคเอเชีย โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปที่จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซียและไทย เนื่องจากการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกจะช่วยส่งผลดีต่อภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ซิตี้สนับสนุนให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงของพอร์ทโฟลิโอโดยรวม เพื่อป้องกันความผันผวนของพอร์ทการลงทุนในทุกสภาวะตลาด
"ทั้งนี้ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ร่วมกับบลจ.ไทยพาณิชย์ นำเสนอ 2 กองทุนเด่นที่เน้นลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น เป็นหลัก ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ THB เฮดจ์ และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียแปซิฟิค อินคัมพลัส โดยทั้ง 2 กองทุน เสนอขายผ่านธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย" นายดอน กล่าว
ด้านนายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขนาดเศรษฐกิจของเอเชียยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจอื่นๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการวัดในรูปของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ ขนาดของประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจอื่น โดยอัตราการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ (EM) ในเอเชียปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตที่ 5.9% ถือว่ายังคงอยู่ในภาวะที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการอย่างต่อเนื่อง ส่วนธนาคารกลางจีน นอกเหนือจากจะมีนโยบายสนับสนุนการเปิดเสรีทางการเงินแล้ว ยังมีแนวทางในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สำหรับบริหารจัดการความมั่งคั่ง และเพิ่มมาตรการในการควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมระดับหนี้สินภาคธุรกิจอีกด้วย
โดยทางธนาคารซิตี้แบงก์เสนอขาย 2 กองทุนเด่นของบลจ. ไทยพาณิชย์ที่เน้นลงทุนในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ THB เฮดจ์ และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียแปซิฟิค อินคัมพลัส ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ THB เฮดจ์ เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ได้แก่ BGF Asian Growth Leaders Fund ในหน่วยลงทุนชนิด (Class) D2 สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศลักเซมเบิร์ก อยู่ภายใต้ UCITS และบริหารงานโดย BlackRock Global Funds มีนโยบายลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 70 ของสินทรัพย์รวมของกองทุนในหุ้นของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในทวีปเอเชียหรือ ดำเนินกิจกรรมหลักในทวีปเอเชีย ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น กองทุนมุ่งเน้นไปที่ภาคธุรกิจและบริษัทที่ผู้จัดการกองทุนเห็นว่ามีลักษณะ การลงทุนที่เติบโต โดยกองทุนดังล่าวสร้างผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ที่ 4.98% (ข้อมูล ณ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561)
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียแปซิฟิค อินคัมพลัส มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ JPMorgan Funds Asia Pacific Income Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน(class) C (mth) USD ลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) กองทุนหลักบริหารโดยบริษัท JPMorgan Asset Management (Europe) S.à r.l. จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS กองทุนหลักมีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตของเงินทุนใน ระยะยาว โดยสินทรัพย์ของกองทุนอย่างน้อยร้อยละ 67 (ยกเว้นเงินสดและตราสารเทียบเท่าเงินสด) จะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน ตราสารหนี้ หลักทรัพย์แปลงสภาพ และ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าว ได้แก่ บริษัทต่างๆ ซึ่งมีที่ตั้งหรือมีธุรกิจหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ รัฐบาล หรือองค์กรของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) โดยกองทุนดังกล่าวสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีที่ 4.34% (ข้อมูล ณ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561)