PTT แจง Q1/61 กำไรหด 13.8% จาก Q1/60 เหตุไม่มีรายการพิเศษ,ผลงานกลุมโรงกลั่น-ปิโตรฯ ลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 10, 2018 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท. (PTT) ชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 1/61 ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 39,788 ล้านบาท ลดลง 6,380 ล้านบาท หรือ 13.8% จาก 46,168 ล้านบาท ในไตรมาส 1/60

สาเหตุหลักเนื่องจากในไตรมาส 1/60 ปตท. มีรายได้จากเงินปันผลรับกองทุนรวม Principal Energy and Petrochemical Index Fund (EPIF) และจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ปรับลดลง โดยหลักจากธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ที่เป็นผลจากการปรับลดลงของส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์กับวัตถุดิบส่วนใหญ่ในไตรมาสนี้ รวมถึงธุรกิจการกลั่นที่ผลการดำเนินงานลดลงตาม Accounting GRM ที่ปรับลดจากกำไรจากสต๊อกน้ำมันที่ลดลง รวมถึงต้นทุนน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตาม Crude Premium ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปรับดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แม้ว่าปริมาณการขายจะลดลง ในส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติดีขึ้นทั้งในส่วนที่ ปตท.ดำเนินการเองและดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ในไตรมาสนี้กลุ่ม ปตท.มีผลกำไรจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ลดลง และมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นจากการลดลงของสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ขณะที่เมื่อเปรียบกับไตรมาส 4/60 พบว่ากำไรของบริษัทและบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น 4,424 ล้านบาท หรือ 12.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 35,364 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ บมจ.ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ (PTTGM) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

ขณะที่ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมของไตรมาสนี้ลดลง โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ปรับลดจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่ลดลงอย่างมากและต้นทุนน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตาม Crude Premium ที่สูงขึ้น รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ที่มีผลการดำเนินงานลดลงตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ปรับตัวลดลง

แม้ว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะมีผลการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง และผลการดำเนินงานของธุรกิจน้ำมันที่ดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นของน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน นอกจากนี้ในไตรมาสนี้กลุ่ม ปตท.มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจากการรับ-จ่ายเงินสกุลต่างประเทศตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น

ปตท.ระบุว่า ไตรมาส 1/61 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 63.9เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/60 ที่อยู่ที่ 59.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และจากไตรมาส 1/60 ที่อยู่ในระดับ 53.1เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากมาตรการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ non-OPEC อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และความกังวลเกี่ยวกับการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ แม้ว่ากำลังการผลิต shale oil ของสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ