นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (14-18 พ.ค.) คาดดัชนีฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับ (technical rebound) นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ รวมไปถึงแรงเก็งกำไรหุ้นที่จะมีการส่งงบการเงินในช่วงต้นสัปดาห์ แต่ยังต้องจับตาดูแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศว่าจะยังขายต่อหรือไม่แต่คาดว่าแรงขายหุ้นในตลาดหุ้นเกิดใหม่จะเบาลง โดยที่ตลาดหุ้นไทย-อินโดฯ-ฟิลิปปินส์ (TIP) ถูกเทขาย 14 วันทำการติดต่อกันถึง $1.7 พันล้านเหรียญ แต่การกลับทิศทางของตลาดหุ้นในวันศุกร์ และตัวเลขนักลงทุนต่างประเทศ กลับมาซื้ออีกครั้ง จากสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ดูจะอ่อนแรงลงจึงคาดว่าอาจพลิกตลาดหุ้นให้กลับมาเป็นบวกได้
ขณะที่คว่ำบาตรประเทศอิหร่านที่นำโดยสหรัฐฯ หากมีหลายชาติเข้าร่วมด้วย จะเป็นบวกต่อราคาน้ำมัน แต่เนื่องจาก OPEC นั้นสามารถผลิตน้ำมันเพิ่มมาชดเชยการผลิตของอิหร่านได้ ปัจจุบัน OPEC มีขีดความสามารถ(spare capacity) เหลือไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปได้ไม่มากนักคาดกรอบบน $75 เหรียญ สำหรับ WTI และ $80 เหรียญ สำหรับ BRENT แต่ด้วยความตึงเครียดในย่านตะวันออกกลางที่ยังมีอยู่ ทำให้ราคาน้ำมันดิบจะทรงตัวในระดับสูงต่อไปจะเป็นบวกต่อหุ้นผู้ผลิตน้ำมันดิบแต่กลุ่มสายการบินจะกูกกดดันจากต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น
ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้นักลงทุนอาจชะลอแรงขายลง ทำให้ทิศทางตลาดหุ้นสั้นๆ น่าจะกลับมาเป็นบวกในสัปดาห์นี้ หากไม่ได้มีข่าวลบเข้ามาเพิ่มเติม หุ้นกลุ่มใหญ่ที่จะนำตลาดจะเป็นกลุ่มธนาคาร ปิโตรเคมี โรงพยาบาล แนะนำ KBANK , IVL และ BDMS ขณะที่การเก็งกำไรในเรื่องของงบการเงิน หุ้นที่น่าสนใจ คือ CENTEL และ PLANB ที่ผลสำรวจ Bloomberg ประเมินกำไรโต 4% YoY และ 23% YoY ตามลำดับ สำหรับหุ้นกลุ่มน้ำมัน (ผู้ผลิตน้ำมัน-โรงกลั่นน้ำมัน) เนื่องจากราคาน้ำมันนั้นปรับตัวขึ้นมาสูง และทิศทางราคาน้ำมันไปขึ้นกับปัจจัยหลายๆตัว การเข้าลงทุนจึงควรรอให้ราคาน้ำมันมีทิศทางที่ชัดเจน เนื่องจากมีผลโดยตรงต่อหุ้นสองกลุ่มนี้ KTBST มองกรอบดัชนีสัปดาห์นี้ที่ 1,750-1,780 จุด
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามดูได้แก่ การรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในวันที่ 15 พฤษภาคม คาดว่าจะออกมาที่ +0.4% MoM ชะลอตัวจากช่วงก่อนหน้าที่ +0.6% MoM , การรายงานตัวเลข GDP จากทางเยอรมัน โดยคาดว่าจะออกมาที่ 2.5% ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.9% และตัวเลข GDP จากทางยุโรปคาดว่าจะออกมาที่ 2.5% และชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.8% เช่นกัน ขณะที่เอเชียจะมีการการรายงานตัวเลข GDP จากทางญี่ปุ่น คาดว่าจะรายงานออกมาที่ -0.2% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าที่ 1.6% และอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในวันที่ 18 คาดว่าจะรายงานออกมาที่ 1.4% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 1.1%