PTG เล็งดัน"พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์"เข้าตลาดหุ้นใน 3 ปีข้างหน้าระดมทุนขึ้นเฟส 2 ปาล์มคอมเพล็กซ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 14, 2018 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เปิดเผยว่า บริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมgข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) โดยคาดว่าจะเดินหน้าได้หลังจากเปิดเดินเครื่องโครงการในเฟสแรกราว 3 ปี หรือภายในปี 64 ทั้งนี้เพื่อระดมทุนมาใช้ลงทุนในเฟสที่ 2 ซึ่งจะมีการขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัว

พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง PTG กับพันธมิตรอีก 2 รายที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจปาล์มน้ำมันยาวนานกว่า 20 ปี โดยเข้าร่วมทุนในโครงการปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย นี้สร้างมาจากแนวคิดการผลิตแบบ Zero Waste ที่สามารถนำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และการบูรณาการเพื่อบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เงินลงทุนราว 3.6 พันล้านบาท

โครงการในเฟสแรกจะเริ่มเดินผลิตเชิงพาณิชย์เต็มที่ทั้ง 100% ในเดือน มิ.ย.นี้ตามกำหนด โดยจะมีผลผลิตน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 และน้ำมันโอเลอีน (Olein) มีกำลังผลิตไบโอดีเซล 450,000 ลิตร/วัน และน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค 200,000 ลิตร/วัน รวมทั้งมีผลผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์และสเตอรีนเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก คาดว่าทั้งโครงการจะทำรายได้ราว 5,000-6,000 ล้านบาท/ปี ซึ่ง PTG จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้น 40%

"โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ของเราได้เริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว ทุก process run แล้ว ซึ่งตอนนี้สามารถผลิต B100 และ Olein ได้แล้ว ซึ่งเราคาดว่าจะสามารถผลิตเต็ม 100% ของ capacity ได้ช่วงเดือนมิถุนายน ตามที่ได้แจ้งไว้ในการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย และทันสมัยที่สุด ซึ่งโครงการนี้เป็นความภูมิใจของคนไทย จะช่วยยกระดับให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศไทย และสามารถต่อยอดพัฒนาได้ในอนาคต"นายรังสรรค์ กล่าว

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้หลักของโครงการมาจากไบโอดีเซล 75% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายให้กับ PTG เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันดีเซล ส่วนที่เหลือยังขายให้กับ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น (BCP) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ขณะที่รายได้จากการจำหน่ายน้ำมันพืชให้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 10% ส่วนที่เหลืออีก 15% เป็นรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้

สำหรับโครงการในเฟสที่ 2 จะเพิ่มกำลังผลิตทุกส่วนอีก 1 เท่า หรือขยายกำลังผลิตไบโอดีเซลเป็น 9 แสนลิตร/วัน แต่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก หรือราว 1,000-1,500 ล้านบาท เพราะในเฟสแรกได้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว แต่คงต้องพิจารณาปริมาณผลผลิตที่จะรับซื้อเข้ามาด้วยว่าจะมีเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือไม่ ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดมาจากสวนปาล์มที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่บริษัทรับซื้อทั้ง ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ และทะลายปาล์มที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 7 เมกะวัตต์เพื่อใช้ภายในโครงการ

นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสที่จะตั้งโครงการในรูปแบบดังกล่าวในพื้นที่ภาคกลางในอนาคต เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตจากฝั่งตะวันออกทั้งภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น เนื่องจาก PTG มีความต้องการใช้ไบโอดีเซลปีละ 5-6 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งผลผลิตจากโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์เฟสแรกมีเพียง 4.5 แสนลิตร/วัน และบริษัทยังคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าความต้องการเพิ่มเป็น 1.6-1.8 แสนลิตร/วันตามปริมาณการขายที่เติบโตชึ้น รวมทั้งหากรัฐบาลส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลด้วยการออกมาตรฐานน้ำมัน B10 ก็จะทำให้ความต้องการไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ