(เพิ่มเติม2) ก.ล.ต.เบรกขาย ICO จนกว่าคลอดเกณฑ์กำกับ คาดออกประกาศได้อย่างช้าไม่เกิน มิ.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 15, 2018 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ขณะนี้การระดมทุนด้วยรูปแบบของการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนครั้งแรก (ICO) ไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่า ก.ล.ต.จะออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลออกมา เนื่องจากการออก ICO นับจากนี้จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะเริ่มกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และคาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ออกมาได้อย่างช้าไม่เกินสิ้นเดือน มิ.ย.61

"ระหว่างนี้การออก ICO ที่เสนอขายต่อประชาชนไม่สามารถทำได้ ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ใครที่เคยทำหรือออกไปแล้วก็ไม่เป็นไร เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เพียงแต่ทำตอนนี้ไม่ได้...เกณฑ์ของ ก.ล.ต.คาดว่าจะออกมาให้เห็นได้กลางเดือนหรือสิ้นเดือน มิ.ย." นายรพี กล่าว

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนที่จะออกเป็นหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.นั้น จะมีการรับฟังความคิดเห็นในหลายประเด็น เช่น การจำกัดประเภทของนักลงทุน, การกำหนดวงเงินลงทุนของผู้ลงทุน เช่น บุคคลธรรมดา จะต้องกำหนดจำนวนที่จะซื้อในแต่ละครั้งว่าไม่เกินเท่าไร เป็นต้น

"คงต้องมีการจำกัดประเภทของนักลงทุน การกำหนดวงเงินลงทุน ซึ่ง detail ทั้งหมดจะอยู่ใน hearing ที่จะเริ่มทำกันในวันจันทร์" นายรพี กล่าว

ก.ล.ต.ชี้แจงว่ากฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อกำกับดูแลการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล รวมทั้งการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนมิให้ถูกหลอกลวงจากผู้ไม่สุจริต ป้องกันการฟอกเงินและการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล เพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้เครื่องมือนี้โดยสุจริตสามารถทำได้

พ.ร.ก.ได้กำหนดนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ซึ่งจะหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดด้วย

ในด้านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน จะทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งต้องได้รับอนุญาตและต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อ ก.ล.ต.โดยเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

นอกจากนี้ ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน และข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล หรือต่อการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนและผู้ลงทุน

ในด้านการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจข้างต้นต้องได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง และมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด อาทิ มีแหล่งเงินทุนเพียงพอ มีความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงจากโจรกรรม มีการรู้จักและตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ ต้องยื่นขออนุญาตภายใน 90 วัน คือภายในวันที่ 14 ส.ค.61 โดยทำธุรกิจต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต

อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันการนำคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจนมาใช้ในธุรกรรม ผู้ประกอบธุรกิจที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลและให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นการตอบแทน หรือรับคริปโทเคอร์เรนซีจากลูกค้า จะรับได้เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้จากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือฝาก ไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่กำหนดในกฎหมายนี้เท่านั้น และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถยกเว้นการออกและเสนอขาย หรือการเป็นตัวกลางในบางลักษณะจากการกำกับดูแลได้

สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย หากพบการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะเอาผิดได้เทียบเคียงกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น การบอกกล่าว เผยแพร่ หรือเปิดเผยข้อความที่เป็นเท็จทำให้สำคัญผิด การใช้ข้อมูลภายใน การซื้อขายตัดหน้าลูกค้า การสร้างราคาให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เป็นต้น รวมถึงมีความผิดเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต

ขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างร่างประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อการกำกับดูแลที่ครอบคลุมธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจนและนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

ส่วนการลงทุนโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีในต่างประเทศจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้

นายรพี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการอนุญาตและมีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.กำหนดนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าธุรกิจที่นำเงินจากการระดมทุนไปใช้จะประสบความสำเร็จ เพราะในทางกลับกันจะพบว่าในต่างประเทศการดำเนินธุรกิจประเภทนี้มีมากกว่า 90% ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การลงทุนจึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก

"การผ่านการอนุญาตจาก ก.ล.ต.ไม่ได้หมายความว่าการเจ๊งจะน้อยลง แต่อย่างน้อยก็เป็นการยืนยันได้ว่าธุรกิจนี้มีการผ่านกฎเกณฑ์แล้ว และมีตัวตน มี White Paper ที่สามารถ Prove Concept ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการสามารถแยกผู้ระดมทุนที่จะนำเงินไปใช้โดยสุจริตออกจากพวกแชร์ลูกโซ่ได้" นายรพีกล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่ต้องการจะเตือนนักลงทุนเป็นอันดับแรก คือ มีความเสี่ยงสูงมากเนื่องจากมูลค่ามีการปรับขึ้นลงอย่างหวือหวาตลอดเวลา อีกทั้งไม่มีผลประกอบการมาเป็นข้อมูล back up ซึ่งขึ้นกับ sentiment ล้วนๆ เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจึงมีหลายระดับมาก

ด้านนายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า ใน พ.ร.ก.การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 นั้น มีการกำหนดเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการถือครองคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลสำหรับกรณีของบุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนกรณีการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของนิติบุคคลจะต้องจัดทำเป็นกฎกระทรวงอีกฉบับหนึ่งออกมา และคาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอย่างเร็วที่สุด

"กรณีของนิติบุคคล เราจะทำเป็นกฎกระทรวงออกมาอีกฉบับ ส่วนเรื่องอัตราที่จัดเก็บนั้นจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง แต่เบื้องต้นอาจจะเป็นอัตราเดียวกับที่เรียกเก็บจากบุคคลธรรมดา คือ 15%" นายสาโรชระบุ

อย่างไรก็ดี เมื่อบุคคลธรรมดาได้ถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในแต่ละครั้งที่ได้จากกำไรหรือผลประโยชน์จากการถือครองคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลแล้ว จะต้องมีการนำรายได้ไปคำนวณการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสิ้นปีด้วย แต่ในกรณีของนิติบุคคลนั้นจะต้องมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อัตรา 7% ด้วย ซึ่งต่างจากบุคคลธรรมดาที่จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีในส่วนนี้ ซึ่งเป็นการบรรเทาภาระให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง

ส่วนข้อเสนอให้ยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีในระยะแรกเพื่อส่งเสริมให้ Startup มีทางเลือกสำหรับแหล่งระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำนั้น ยังไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สำหรับ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 (การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล) ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พ.ค.61 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.61 เป็นต้นไปนั้น สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวมี 2 ประการ ได้แก่

1. กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นเงินได้ประเภทผลตอบแทนทางการเงินโดยอยู่ใน (ซ) และ (ฌ) ของมาตรา 40 (4) ดังกล่าว

2. กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และ (ฌ) ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้

พระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่มิได้ทำให้ผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สำหรับธุรกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรปัจจุบัน โดยสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง จึงมีภาระภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างอื่นๆ

ในส่วนการกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น กรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ