นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Office and Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เพิ่มเงินลงทุนอีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.75 พันล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3 พันล้านบาท
การเพิ่มงบลงทุนในครั้งนี้จะมุ่งเฟ้นหาบริษัทสคาร์ทอัพและเวนเจอร์แคปปิตอลจากทั่วโลกที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ของธนาคาร เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไปของธนาคาร
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ประสบความสำเร็จในด้านการลงทุน รวมทั้งการร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับเวนเจอร์แคปปิตอลและสตาร์ทอัพต่างๆ ทำให้ธนาคารฯ สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) โดยในปัจจุบัน SCB มีเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่า 800 ราย และเวนเจอร์แคปปิตอลในต่างประเทศอีกกว่า 60 ราย จาก 29 ประเทศทั่วโลก ทำให้ธนาคารฯ สามารถเข้าถึง และเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากกิจการที่ได้เข้าไปลงทุน อาทิ บล็อคเชน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการทำงานขององค์กรธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป
"การลงทุนที่ผ่านมานอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสตาร์ทอัพชั้นนำที่มีศักยภาพ เวนเจอร์แคปปิตอล และผู้นำทางความคิดด้านฟินเทคทั่วโลกแล้ว ธนาคารยังสามารถแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ให้แก่ผู้บริหารของธนาคารเอง และลูกค้าองค์กรผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น สัมมนา เวิร์คช็อป เช่น งาน SCB Faster Future Forum เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาสังคมดิจิทัลต่อไป"นายอารักษ์ กล่าว
นโยบายการลงทุนของดิจิทัล เวนเจอร์สครั้งนี้ มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์และบริการ และเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน ความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data / Data Analysis) และอื่นๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับบริการต่างๆ ของธนาคาร เช่น บริการสินเชื่อ การบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจประกัน
การเพิ่มเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการเฟ้นหาและเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆให้กับธนาคาร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้าในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้กลยุทธ์นี้ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ Going Upside Down หรือตีลังกากลับหัวที่จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพด้านดิจิทัล และมีโมเดลการทำงานที่เหมาะสมกับความท้าทายของโลกดิจิทัลในอนาคต สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินการธนาคาร เศรษฐกิจในภาพรวม และการพัฒนาสังคมของประเทศไทยให้ก้าวทันโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ