นางสาวรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มาลีกรุ๊ป (MALEE) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพิจารณาปรับลดเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโตต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นเป้าเดิมที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากที่ภาพรวมของธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัวลง จากภาวะของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันหดตัวลง 2.3%
โดยเฉพาะเครื่องดื่มในกลุ่มน้ำผลไม้ที่หดตัวอย่างมากถึง 10% ซึ่งกลุ่มสินค้าที่เป็นน้ำผลไม้พรีเมียมและอีโคโนมี่ปรับตัวมากที่สุดกว่า 11% และ 15% ตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าเครื่อดื่มน้ำผลไม้กลุ่มพรีเมียม ซึ่งกดตัวตัวลงตามภาวะอุตสาหกรรม
ขณะที่ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามสัญญาและรับจ้างผลิต (CMG) บริษัทมีลูกค้าที่ใช้บริการลดลง เนื่องจากสตาร์บัคส์ ซึ่งถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้บริการ CMG ของบริษัทในการผลิตน้ำผลไม้จำหน่ายในประเทศจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ยกเลิกสัญญากับบริษัทไป ทำให้รายได้จากธุรกิจ CMG ลดลง
ประกอบกับ การลงทุนใหม่ 4 แห่งในไทย เวียดนาม ฟิลลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในช่วงครึ่งปีแรกยังไม่มีการสร้างรายได้เข้ามา ซึ่งจะเริ่มเห็นการสร้างรายได้เข้ามาในช่วงปลายไตรมาส 2/61 และจะเข้ามาอย่างเต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยที่การพิจารณาปรับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ใหม่นั้นคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทมองแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ายอดขายจะเติบโตได้มากกว่า 10% หลังจากที่บริษัทหันมาผลักดันการเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น พร้อมกับการออกสินค้าใหม่ในส่วนของธุรกิเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในประเทศอีก 20 SKU ที่เน้นไปที่ตลาดสินค้าสุขภาพที่เข้าถึงตลาด MAS เพิ่มขึ้น
ขณะที่ธุรกิจในต่างประเทศ เช่น ในเวียดนามจะเริ่มธุรกิจเครื่องดื่มได้ในช่วงไปลายไตรมาส 2/61 และจะมีการรวบงบการดำเนินงานเข้ามาใน MALEE ในช่วงปลายไตรมาส 2/61 หลังจากที่ดีลการซื้อกิจการสำเร็จไปแล้ว ส่วนธุรกิจร่วมทุนในประเทศอินโดนีเซียจะสามารถเริ่มธุรกิจได้ในช่วงไตรมาส 4/61
และธุรกิจในประเทศไทยที่ผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับของใช้ส่วนตัว (Personal care) จะเริ่มจำหน่ายสินค้าในช่วงปลายไตรมาส 2/61 ซึ่งบริษัทตั้งเป้าสัดส่วนยอดขายของสินค้ากลุ่ม Personal care ในช่วง 3 ปี หริอภายในปี 63 อยู่ที่ 5-10% ของยอดขายรวม
ส่วนธุรกิจ CNG บริษัทจะใช้กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง ทั้งด้านความหลากหลายของกลุ่มผลิตภัณฑ์และลูกค้ามากขึ้น ซึ่งบริษัทเริ่มดำเนินการดังกล่าวไปแล้วราว 1 ปี ซึ่งมีลุกค้าใหม่ๆของบริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์ หากลูกค้าที่ต้องการคุณภาพผลิตภัณฑ์สูง จะต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะจะต้องทำการทดสอบการผลิตหลายครั้ง ทำให้ยอดขายใหม่ที่ทยอยเข้ามายังไม่มากพอที่จะทดแทนรายได้บางส่วนจากสินค้าบางกลุ่มได้ทันที แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่เริ่มมีลูกค้าและสินค้ารายการใหม่ๆในช่วงไตรมาส 3/61 เป็นต้นไป จะทำให้ยอดขายของ CMG เริ่มกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น
ด้านการลงทุนของบริษัทนั้นปัจจุบันยังเหลืองบลงทุนอีก 500 ล้านบาท จากงบลงทุนรวมในช่วง 3 ปี (ปี 59-61) รวม 1.5 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ชะลอการใช้งบลงทุนดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากภาวะของธุรกิจชะลอตัว ประกอบกับการลงทุนใหม่ๆทั้ง 4 แห่ง ยังไม่เริ่มสร้างผลตอบแทนในขณะนี้ แต่จะเริ่มทยอยสร้างผลตอบแทนเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
อีกทั้งบริษัทหันมาเน้นการผลักดันยอดขายเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยหนุนการเติบโตของธุรกิจ พร้อมกับตั้งงบการตลาดไว้ที่ 16% ของยอดขายรวม สำหรับงบลงทุนที่เหลืออีก 500 ล้านบาท เป็นงบลงทุนที่นำไปใช้ลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในโรงงาน เช่น คลังสินค้า ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทมองว่าแรงกดดันที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำผลไม้และภาพรวมของธุรกิจมาจากกำลังซื้อ และการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัว และยังไม่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ของการจับจ่ายเพื่อการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะน้ำผลไม้ที่ประชาชนต่างมองว่ามีราคาสูงอยู่ ซึ่งส่งผลกดดันต่อยอดขายที่ปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันพฤติกรรมของประชาชนหันไปจับจ่ายสินค้าและอาหารที่เป็นแฟชั่นเพิ่มมากขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้หกตัวลงในช่วงที่ผ่านมา