ฟิทช์ คงอันดับเครดิต KCE ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 17, 2018 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบมจ. เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่: อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า และมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) มากกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) บริษัทเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 นอกจากนี้ KCE ยังมีอัตราส่วนกำไรโดยรวมที่สูงกว่าผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป เนื่องจากบริษัทมีโครงสร้างต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำจากกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และค่าแรงที่ต่ำกว่าในประเทศไทย

ความเสี่ยงจากราคาทองแดง: KCE มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาทองแดง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 18 ของต้นทุนการผลิตในปี 2560 ฟิทช์คาดว่าราคาทองแดงจะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2561 และส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของ KCE อาจลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20-22 (ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 23.7)

บริษัทมีการเสนอการเปลี่ยนแปลงราคาของผลิตภัณฑ์ปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งทำให้บริษัทสามารถเจรจาเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์ในการเสนอราคาครั้งต่อไปหากต้นทุนราคาทองแดงมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งผ่านต้นทุนราคาทองแดงที่เพิ่มขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองระหว่างบริษัทและลูกค้า ในปี 2560 EBITAR Margin ของ KCE ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 23.7 จากร้อยละ 29 ในปี 2559 เนื่องจากบริษัทไม่สามารถส่งผ่านราคาทองแดงที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้ทั้งหมด

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า KCE จะยังคงมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรที่ลดลง และเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำที่ 0.7 เท่า ณ สิ้นปี 2560 น่าจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินสำหรับรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) จะเพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนที่สูงขึ้น แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

โอกาสการเติบโตในอนาคต: KCE ได้รับประโยชน์จากโอกาสการเติบโตในระยะยาวของผลิตภัณฑ์แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ จากการผลิตรถยนต์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า และการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่ายอดขายของบริษัทจะเติบโตร้อยละ 5-6 ต่อปี ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมารายได้ของ KCE เติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8 มาอยู่ที่ 1.42 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จาก 1.13 หมื่นล้านบาท ในปี 2557

การกระจุกตัวของรายได้; ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน: ปัจจัยเสี่ยงหลักของ KCE ประกอบด้วยการที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว การแข่งขันด้านราคาที่สูง และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ KCE ยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงกระบวนการผลิต อาจส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ในรูปสกุลเงินบาทลดลง

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

KCE มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ KCE มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ PTL เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ PTL ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และมีการแข่งขันที่สูง ในขณะที่ KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ที่สูงกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน Total adjusted net debt to EBITDAR อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน

เมื่อเทียบกับ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ TASCO เป็นผู้ผลิตยางมะตอยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนฐานการผลิตที่มากกว่าใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย และการแข่งขันในธุรกิจผลิตยางมะตอยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้ค่อนข้างคงที่ในปี 2561 และเติบโตร้อยละ 5-6 ในปี 2562-2563
  • ราคาทองแดงเพิ่มขึ้นในปี 2561
  • EBITDA Margin อยู่ที่ร้อยละ 20-22 ในปี 2561-2562 (ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 23.7)
  • มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายกำลังการผลิตในปี 2561 และ 2562
  • อัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 60
  • ไม่มีการซื้อกิจการ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก

  • การขยายตัวของบริษัทและการเพิ่มการกระจายตัวของลูกค้า และ EBITDAR Margin เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 25 โดยยังคงรักษาอัตราส่วน FFO-Adjusted Net Leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ

  • กระแสเงินสด ที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • EBITDAR Margin ต่ำกว่าร้อยละ 20 อย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทมีสถานะด้านการแข่งขันและความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนการผลิตไปยังลูกค้าอ่อนแอลง
  • สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ

สภาพคล่อง

KCE มีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 1.7 พันล้านบาท โดยหนี้ระยะสั้นดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วยหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก โดยมีหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระในปี 2561 จำนวน 588 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีเงินสดเจำนวน 1.1 พันล้านบาท และมีสภาพคล่องเสริมจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกไม่ได้จำนวน 1.82 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ