BPP ศึกษานำโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน,คาดกำไร Q2/61 โต QoQ และ YoY

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 17, 2018 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BBP) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยจะนำโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเข้าเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งจะเป็นหนึ่งทางเลือกของแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นแห่งใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมแผนลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นที่เป็นโครงการใหม่จำนวน 10-15 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 20-50 เมกะวัตต์ (MW) /โครงการ คาดว่าจะทยอยสรุปความชัดเจนภายในปลายปีนี้ จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 233.3 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในด้านแหล่งเงินทุนนั้นบริษัทยังมีทางเลือกหลายทาง โดยยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้อีกมาก เพราะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.1 เท่า อีกทั้งยังมีแหล่งเงินทุนที่มาจากการออกหุ้นกู้ และกองทุนจากต่างชาติที่ลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งแหล่งเงินทุนในแต่ละทางเลือกบริษัทจะพิจารณาตามความเหมาะสมของการลงทุนในอนาคตหลังจากที่มีความชัดเจนในการลงทุนแล้ว

ขณะที่การลงทุนต่าง ๆ นอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น บริษัทจะเน้นการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก ซึ่งบริษัทยังมั่นใจว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในปี 68 เพิ่มขึ้นเป็น 4,300 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายได้ โดยที่จะมีสัดส่วนกำลังการผลิตของพลังงานทดแทนอยู่ที่ 20% ซึ่งในสิ้นปี 61 บริษัทจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,160 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 97 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนที่ 9%

ส่วนการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศเวียดนามนั้น คาดว่าจะเห็นความคืบหน้ามากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/61 ซึ่งน่าจะได้รับใบอนุญาตการลงทุน โดยกำลังการผลิตไม่ถึง 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนรวมอยู่ที่ 50 ล้านดอลลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรองรับการปรับปรุงโรงไฟฟ้าและการลงทุนต่างๆ

นายสุธี กล่าวอีกว่า ด้านผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/61 คาดว่ากำไรจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของก่อน และไตรมาส 1/61 เนื่องจากในไตรมาสนี้บริษัทจะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษคดีโรงไฟฟ้าหงสาเข้ามาหลังจากได้บันทึกไปทั้งหมดแล้วในไตรมาสแรกราว 900 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรในไตรมาสแรกลดลง แต่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 2/61 ประกอบกับยังไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้าทุกโรงดำเนินงานตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ผลการดำเนินงานอาจจะได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ของโรงไฟฟ้าหงสาในช่วงไตรมาส 3/61 และในไตรมาส 4/61 จะปิดซ่อมบางยูนิตของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ซึ่งอาจจะกดดันอีกส่วนหนึ่ง แต่ในปีนี้บริษัทจะมีกำลังการผลิตของโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นเพิ่มอีก 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 44.5 เมกะวัตต์ เข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปส่วนหนึ่งได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ