นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า บริษัทคาดไตรมาส 3/61 จะสามารถบันทึกรายได้จากการขายที่ดิน มูลค่า 620 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 2,152 ไร่ ให้กับบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กับกลุ่มบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) โดยคาดบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะดำเนินการจัดตั้งแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/61
ทั้งนี้ บริษัทและกลุ่ม WHA ได้ตกลงเข้าลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้น ร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยบริษัทถือหุ้น 40% และกลุ่ม WHA ถือหุ้น 60% เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมบนที่ดิน ประมาณ 2,152 ไร่ บริเวณอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยนิคมฯดังกล่าวจะรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ประเภท ธุรกิจยานยนต์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และชิ้นส่วนเครื่องบิน เบื้องต้นมีลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจ และมั่นใจว่าจะสามารถขายที่ดินได้ ซึ่งจะคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ถึง 8 พันล้านบาท ภายใน 10 ปี
นางรัชดาภรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/61 คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส 1/61 จากการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงรายได้สกุลดอลลาร์เป็นบาท ขณะที่คาดกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) จะอยู่ที่ระดับ 14-15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานปี 61 จะเติบโตมากกว่าปี 60 เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากการลงทุนในหลายโครงการ ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตันต่อปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีนรวมเป็น 7.75 แสนตันต่อปี และจะรับรู้รายได้จากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด (UHV) จะสามารถดำเนินการได้เต็มที่และเต็มประสิทธิภาพ และการเปิดโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ ระยะ 2 ขนาด 240 เมกะวัตต์ (MW) รวมถึงการเดินหน้าโครงการ EVEREST รวมถึงในปีนี้ไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทำให้คาดว่าจะเดินเครื่องกลั่นน้ำมันในระดับ 99% มาที่ 2.14 แสนบมาร์เรล/วัน ซึ่งผลักดันให้รายได้ปีนี้ดีกว่าปีก่อน
ส่วนแผนการลงทุนภายใต้โครงการ MARS ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุน ซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการลงทุนหรือไม่ ภายในต้นปี 62 โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีน จำนวน 1 ล้านตันต่อปี และเบนซีน จำนวน 3 แสนตันต่อปี โดยหากแผนลงทุนโครงการ MARS ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะสร้างผลตอบแทน (Yield) ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงขึ้นเป็นระดับ 25% จากเดิมอยู่ที่ 15% ขณะเดียวกันคาดว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ในโครงการดังกล่าวจะอยู่ที่ 14-15% โดยผลกำไรของบริษัทส่วนใหญ่มาจากธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก
สำหรับภาพรวมส่วนต่างผลิตภัณฑ์มองว่าแนวโน้มของธุรกิจปิโตรเลียม และปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับสูง โดยผลิตภัณฑ์หลักที่มาจากธุรกิจปิโตรเลียม ได้แก่ ดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากโรงกลั่นภายในประเทศจะมีการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับสินค้าคงเหลือทั่วโลกโดยรวม ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ด้านส่วนต่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภท PP ในงวดไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 650 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็มองว่าในช่วงสิ้นปีนี้จะยังคงอยู่ในระดับดังกล่าว เนื่องจากมีความต้องการใช้สูงมาก ขณะเดียวกันกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบต่ำกว่าคาดการณ์