(เพิ่มเติม1) DTAC มีแผนขยายบริการบนคลื่น 2300 MHz ไม่ต่ำกว่า 37 จว.ในปีนี้ เปิดให้บริการใน Q2/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 17, 2018 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า บมจ.ทีโอที และ DTAC ร่วมมือให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz เป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยโครงข่ายและเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ 5G ในการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายรัฐบาลสู่ประเทศไทย 4.0 โดย DTAC ได้วางแผนการให้บริการคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ปี 61 ประมาณ 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท สำหรับการขยายสถานีฐานและเสาสัญญาณ โดยค่าใช้บริการ DTAC จ่ายค่าตอบแทนแก่ทีโอทีเป็นจำนวน 4,510 ล้านบาทต่อปีจนถึง ปี 68

ทั้งนี้ DTAC วางแผนที่จะขยายบริหารบนคลื่น 2300 MHz ในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 37 จังหวัด ภายในปลายปีนี้ หลังจากเปิดให้บริการในกรุงเทพชั้นในภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยพื้นที่แรกที่จะเปิดบริการเชิงพาณิชย์จะเน้นไปที่บริเวณที่มีการใช้งานดาต้าสูง

โดยวันนี้ ทีโอทีและ DTAC ได้เปิดทดสอบ dtac-T คลื่น 2300 MHz จำนวน 10 แห่ง ใจกลางกรุงเทพ เน้นจุดพื้นที่ใช้งานหนาแน่น อาทิ สุขุมวิท สาทร-นราธิวาสราชนครินทร์ สีลม ราชประสงค์ พระราม 3 เป็นต้น ในการเปิด 10 เสาแรกในไทย เพื่อเปิดทดสอบสัญญาณเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้าทั่วไปเร็วๆ นี้ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดทดสอบการใช้งานเป็นครั้งแรกในไทย

และในปี 62 จะขยายโครงข่ายบนคลื่น 2300 MHz ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ครบ 77 จังหวัด โดยปีนี้ บริษัทขยายโครงข่ายทั้งคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.5 หมื่นสถานีฐาน โดยจำนวนนี้จะเพิ่มสถานีฐานและเสาสัญญาณของคลื่น 2300 MHz ประมาณ 4 พันสถานีฐาน

"การที่ DTAC ได้คลื่น 2300 MHz มาให้บริการทำให้เพิ่มศักยภาพโครงข่ายที่มีแบนด์วิธที่กว้างขึ้น และจะทำให้เราเป็นผู้นำ Mobile Network ได้และทำให้เรามีศักยภาพแข่งขัน เราคงไม่ตอบว่าเราจะเป็นที่ 2 หรือ ที่ 3 นั่นไม่ใช่เป้าหมายของเรา เราคาดหวังจะให้บริการ Data ได้ดี เราเชื่อว่าการได้คลื่น 2300 MHz จะทำให้ Position ของเราแข็งแกร่งมากขึ้น" ประธานเจ้าหน้าทีบริหาร DTAC กล่าว

นายลาร์ส กล่าวเพิ่มเติมว่า DTAC เลือกเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อการสื่อสารมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยคลื่นความถี่ 2300 MHz และเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) จะถูกนำมาใช้งาน โดย TDD สามารถจัดการแบนด์วิธสำหรับการอัพลิงค์ และดาวน์ลิงค์บนแบนด์วิธเดียวได้พร้อมกันตลอดเวลา

ความร่วมมือกันระหว่าง DTAC และทีโอทีครั้งนี้มีความสำคัญที่นำคลื่นความถี่กว้าง 60 MHz ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจุดนี้ก็เป็นกำลังสำคัญของ DTAC ซึ่ง TDD สามารถให้บริการทั้ง voice และ Data

นายลาร์ส กล่าวต่อไปว่า สมาร์ทโฟนจำนวนมากกว่า 70% ที่รองรับ 4G ในขณะนี้ จะสามารถใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz TDD ได้ อีกทั้ง ไม่เพียงแต่ผู้ใช้งานบนคลื่น 2300 MHz จะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น แต่ผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนบนคลื่น 2100 MHz ยังจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นอีกด้วย จากที่มีการเพิ่มคลื่นความถี่หรือ Off Load จากผู้ใช้งานบนระบบ TDD ทั้งนี้ ทำให้ลูกค้า DTAC ทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

TDD และ Massive MIMO คือเทคโนโลยีที่ปฏิวัติเพิ่มการรับและส่งดาต้าในแต่ละเสาสัญญาณได้มากกว่าเดิม นับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ก้าวสู่ "5G-ready" โดยคลื่นใหม่ที่จะนำมาให้บริการจะมีความจุที่มากที่สุด และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้

ขณะเดียวกัน DTAC สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ DTAC จะพิจารณาและตัดสินใจว่า DTAC จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้หรือไม่ โดยจะมีการประชุมราวกลางเดือน มิ.ย.นี้ อนึ่ง คลื่น 1800 MHZ ที่ DTAC ได้สัญญาสัมปทานจะหมดอายุในเดือน ก.ย.61

ด้านนายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี DTAC กล่าวเสริมว่า ลูกค้าดีแทคจะสามารถใช้คลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ต่อเนื่องได้ไม่สะดุด ทำให้การใช้งานไหลลื่น และหลังจากที่ DTAC ได้บริหารคลื่น 2300 MHz ทำให้สถานการณ์ของ DTAC ดีขึ้นและคลายความกังวลเรื่องการไม่มีคลื่นบริหารที่เพียงพอ ทั้งนี้ DTAC แบ่งการใช้งานคลื่น 2300 MHz กับทีโอที เป็นสัดส่วน 60% และ 40% ของปริมาณการใช้งาน โดยปัจจุบัน บริษัทมีคลื่น 2100 MHz อยู่ 10 MHz

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า การเปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz จะเป็นการเสริมศักยภาพบริหารของ ทีโอที ทั้งบริการโมบายบนคลื่น 2100 MHz และบริการบรอดแบนด์ของทีโอที ซึ่งจะรองรับความต้องการใช้งานของภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ธุรกิจ SME และประชาชนได้มากขึ้น โดยทีโอทีพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ตลาดโมบายและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทีโอที เป็นอีก 1 แบรนด์ที่มีจุดแข็งที่ได้เปรียบทั้งในเรื่องของแบนด์วิธและความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ โดยจะสามารถสร้างยอดลูกค้า เพิ่มมาร์เก็ตแชร์ให้กับทีโอที

"สัญญาทางธุรกิจและความร่วมมือระหว่างทีโอทีและ DTAC ในการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz เป็นการปักหมุดความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีล่าสุดของโลก 4G LTE-TDD มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งบนโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless broadband) เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ"นายมนต์ชัย ระบุ

ทั้งนี้ ทีโอทีลงนามสัญญาธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz กับกลุ่มบริษัทดีแทคไตรเน็ต เมื่อวันที่ 23 เม.ย.61 ที่ผ่านท่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ