นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อน ธนาคารธนชาต (TBANK) ในกลุ่มบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เปิดเผยว่า ตั้งต้นปีจนถึงปัจจุบันสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (SME S) เติบโตแล้ว 20% โดยมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารมั่นใจทั้งปีนี้สินเชื่อ SME S จะเติบโตตามเป้าหมายที่ 30% จากกลยุทธ์ของธนาคารที่จะผลักดันการเติบโตด้วยการเพิ่มความชำนาญของทีมงานขายให้เข้าใจการวิเคราะห์สินเชื่อ และแนะนำการดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้า นอกจากการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดืยว
ทั้งนี้ ด้านสินเชื่อ SME S รวมทุกขนาดของธนาคารในปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดย SME S ของธนาคารจะเป็นธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท/ปี และมีวงเงินให้สินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท
พร้อมกับการออกแคมเปญที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้า ล่าสุดธนาคารได้ทำแคมเปญผลิตภัณฑ์ "สินเชื่อธนชาต SME ได้ใจ" มาตอบโจทย์ลูกค้า SME S และกลุ่ม New Gen และ Gen Y ที่หันมาประกอบธุรกิจกันมากขึ้น เพียงลูกค้าเป็นเจ้าของกิจการจริง มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ในธุรกิจที่ยื่นกู้มาอย่างน้อย 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านซักรีด ร้านขายของชำ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา (สัญชาติไทย) หรือนิติบุคคล ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 3 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี
โดยรูปแบบของเงินกู้มีทั้งในรูปของวงเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) และวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) ถ้าลูกค้าต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอื่นๆ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในธุรกิจแบบครบวงจร โดยที่ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR +4 และหากพ่วงผลิตภัณฑ์อื่นของธนาคารจะได้รับอัตราดอกเบี้ย MLR +2
พร้อมกับตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผลิตภัณฑ์ "สินเชื่อธนชาต SME ได้ใจ" ในปีนี้ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนปล่อยไป 1 พันล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว 500 ล้านบาท รวมกับปีก่อนจะอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให่เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อ SME S ในปัจจุบันอยู่ที่ต่ำกว่า 1% และจะควบคุมให้ไม่เกิน 1% โดยที่ธนาคารได้มีระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่ออยู่บ้าง แต่ธนาคารยังคงมีความต้องการให้ลูกค้า SME S เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ หลังพบว่าในกลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการขออนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการแสดงรายได้ที่ไม่เป็นระบบ มีการขายสินค้าด้วยเงินสดหมุนเวียนแบบวันต่อวัน และรายการเดินบัญชีที่ไม่ชัดเจนจึงเป็นการยากที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้