นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (21-25 พ.ค.) ว่า ประเด็นสำคัญในเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีทิศทางที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นจีนได้เสนอการลดการขาดดุลการค้าราว 200 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาเรียกร้องในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งการลดการขาดดุลดังกล่าวนั้น ทางจีนเสนอผ่านทางการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากทางฝั่งสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตที่น่าสนใจในการเสนอข้อตกลงดังกล่าวก็คือ 1.ทางการจีนไม่ได้เสนอการลดภาษีนำเข้ากับทางสหรัฐฯแต่อย่างใด ประเด็นดังกล่าวจะทำให้สินค้าของสหรัฐฯจะยังคงแข่งขันในตลาดจีนได้ยากและการลดการขาดดุลดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น 2.ทางการจีนไม่ได้กล่าวถึงท่าทีของสหรัฐฯหลังจากได้ฟังข้อเสนอดังกล่าว
ขณะที่ ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นยังเป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นไทยไปได้ไม่ไกลและทำให้ตลาดยังมีความผันผวนในสัปดาห์นี้ ส่วนราคาน้ำมันดิบยังมีปัจจัยหนุนโดยเฉพาะความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลาง (ซีเรีย-ซาอุฯ-อิสราเอล) และผลเลือกตั้งเวเนซูเอลล่าช่วงวันหยุดที่ผ่านมา อาจฉุดให้กำลังการผลิตน้ำมันของประเทศนี้ลดต่ำลงไปอีก แต่เป็นผลบวกต่อ หุ้นผู้ผลิตน้ำมันเช่น PTT-PTTEP จะมีรายได้มากขึ้น แต่กลุ่มผู้มีต้นทุนอิงราคาน้ำมันดิบ คือ ปิโตรเคมี ภาคการขนส่ง จะเริ่มเป็นลบหลังราคาน้ำมันดิบ WTI ทะลุ $70 เหรียญ หรือ BRENT เกิน $80 เหรียญ
ดังนั้น แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้มีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัยการซื้อขายในช่วงนี้ ต้องพิจารณาจากตัวแปรที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน น้ำหนักการลงทุนในสัปดาห์นี้ แนะถือเงินสดเพิ่มขึ้น หรือ เข้าซื้อเก็งกำไรช่วงสั้น ในหุ้นที่มีข่าวบวกสนับสนุน จากเรื่องตัวเลขส่งออกที่คาดว่าจะออกมาดี และสหรัฐฯ-จีนบรรลุข้อตกลงการค้า น่าจะบวกต่อหุ้นส่งออกทั้ง KCE และ HTECH
ขณะที่ตัวเลขยอดขายรถและส่งออกรถของไทยที่เติบโต เป็นบวกต่อหุ้น AH รวมถึงหุ้นกลุ่มโทรศัพท์อย่าง TRUE หลังบริษัทฯไม่เข้าประมูลคลื่นรอบแรกน่าจะส่งบวกต่อฐานะการเงินและการทำให้มีการ Split ใบอนุญาตให้เล็กลง จาก 3 ใบเป็น 9 ใบ และท้ายสุดหุ้นอิงผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หาก 23 พ.ค.กำหนดเลือกตั้งไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนไม่มาก จะเป็นบวกต่อหุ้นนิคมฯ โดยตรงอย่าง WHA หากผลออกมาตามที่คาด คือ รอซื้อเมื่อเห็นผลของคำวินิจฉัย KTBST มองกรอบดัชนีฯในสัปดาห์นี้ที่ 1,720-1,780 จุด
สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การรายงานของที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC minute) ในวันที่ 24 พ.ค.คาดว่าจะยังคงประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไว้ ณ ระดับช่วงก่อนหน้านี้ KTBST คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทาการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ด้านตลาดยุโรป ติดตามการรายงานดัชนีผู้ผลิต (PMI) จากเยอรมัน คาดว่าจะออกมาที่ 57.4 ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 58.1
และทางเอเชีย ติดตามการรายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จากไทย โดยคาดว่าไตรมาส 1/61 จะออกมาที่ 4% คงที่จากช่วงก่อนหน้า และส่งออกคาดว่าจะออกมาเติบโต 11.25% ฟื้นตัวจากช่วงก่อนหน้าที่ 7.06% และทางญี่ปุ่นคาดว่าการส่งออกจะรายงานออกมาที่ 8.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.1%