นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าการเติบโตของผลการดำเนินงานในภาพรวมในครึ่งปีหลังของปี 61 ทั้งการปล่อยสินเชื่อใหม่ การขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ และกำไรสุทธิ จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% ซึ่งเป็นการเติบโตที่บริษัทคาดว่าสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ซึ่งมีความต้องการใช้สินเชื่อของลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่มีการจับจ่ายใช้สอยกันมากและเป็นช่วงเทศกาล ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจ ประกอบกับการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นทำให้บริษัทได้เข้าถึงลูกค้าในหลากหลายพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้บริษัทจะขยายสาขาเพิ่มอีก 213 สาขา จากปัจจุบันที่มีจำนวนสาขาทั้งหมด 2,811 สาขา ซึ่งจะทำให้สิ้นปี 61 บริษัทจะมีจำนวนสาขารวมทั้งสิ้น 3,024 สาขา เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่มี 2,424 สาขา
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในสิ้นปี 61 บริษัทจะควบคุมให้อยู่ไนระดับไม่เกิน 1.5% ซึ่งเป็นระดับที่บริษัทจะควบคุมในช่วงแผน 3 ปีนี้ (ปี 61-63) แม้ว่าแนวโน้มของ NPL ในช่วงไตรมาส 1/61 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.29% จากสิ้นปีก่อนที่ 1.24% และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาส 2/61 มาอยู่ที่ 1.3% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมาจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนหน้า ทำให้แนวโน้มของ NPL ทยอยเพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อที่ยังเติบโตได้อยู่ แต่บริษัทไม่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีการบริหารจัดการหนี้และมีการติดตามลูกหนื้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไปในทุกไตรมาสเฉลี่ย 5-10% ของสินเชื่อที่ปล่อยไป เพื่อควบคุมระดับ NPL ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ส่วนเป้าหมายในปีนี้บริษัทยังมั่นใจว่าจะเติบโตเข้าเป้าที่ 40% ทั้งจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่จะแตะระดับ 5 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ จากสิ้นปีก่อนที่ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 9 หมื่นล้านบาทภายในปี 63 และสร้างการเติบโตของกำไรทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องในทุกปี
โดยในแง่ของการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น บริษัทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลไว้ที่อัตรา 15% ของกำไรสุทธิ เพื่อทำให้บริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้เพื่อนำมาดำเนินธุรกิจ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนซึ่งเป็นการพึ่งพาเงินจากผู้ถือหุ้น โดยที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่บริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้อยู่นั้นจะควบคุมไว้ไม่เกิน 4 เท่า ซึ่งปัจจุบัน D/E ของบริษัทอยู่ที่ 2.98 เท่า
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ MTC กล่าวว่า มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทและการตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีอัตราการตั้งสำรองฯในระดับที่สูงและเพียงพอในระดับที่ 260% สามารถรองรับกับมาตรฐานบัญชีใหม่ได้ ประกอบกับ บริษัทว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งราย คือ เคพีเอ็มจี เพื่อมาจัดทำระบบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐาน IFRS9 แม้ว่าจะมีการบังคับใช้ในปี 62 หรือจะมีการเลื่อนบังคับใช้ไปก็ตาม ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ระบบบัญชีของบริษัทให้เป็นไปตามมารฐานสากล
ด้านแหล่งเงินทุนของบริษัทในปัจจุบันยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ในวงเงินรวม 8 พันล้านบาท อีกทั้งบริษัทมีแผนการออกหุ้นกู้ในช่วงไตรมาส 3/61 วงเงิน 2 พันล้านบาท อายุ 2-3 ปี อัตราดอกเบี้ยคาดว่าอยู่ที่ 3.5-3.7% ต่อปี โดยมีอันดับเครดิตเรตติ้ง BBB ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้มาเพื่อรองรับบการปล่อยสินเชื่อ ส่วนการเดินสายโรดโชว์ใหมข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศนั้นจะไปที่ฮ่องกงและญี่ปุ่นในไตรมาส 2/61 ส่วนไตรมาส 3/61 จะไปโรดโชว์ที่สหรัฐฯ และไตรมาส 4/61 จะไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์
นายสุรพงษ์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ MTC กล่าวว่า การที่ภาครัฐออกพ.ร.บ.กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินฉบับใหม่นั้นเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 15% แต่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอี่นๆตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ และเมื่อมีการบังคับใช้จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและผู้กู้ยืม
โดยในแง่ของผู้ประกอบการนั้นจะทำให้มีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล ทำให้มีการรายงานข้อมูลเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีการให้บริการทางการเงินกับลูกค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่วนในด้านของผู้กู้ยืมจะมีค่าใช้จ่ายของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เพราะในอุตสาหกรรมยังมีผู้ประกอบการบางรายที่คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นสูงกว่า 40% ในขณะที่ผลกระทบต่อ MTC นั้นมองว่าไม่ส่งผลใดๆ เพราะสินเชื่อส่วนใหญ่ที่บริษัทปล่อยให้กับลูกค้าเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นสินเชื่อคนละประเภทกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อของพ.ร.บ.ฉบับใหม่ออกมาควบคุม
นายชูชาติ กล่าวเสริมว่า ในเรื่องของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังคงต้องติดตามความชัดเจนอีกครั้งว่าทางหน่วยงานกำกับดูแลจะกำหนดเพดานของอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆไว้เท่าใด ซึ่งในแง่ของผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อต่อต้นทุนของบริษัทนั้นไม่ส่งผลกระทบ เพราะบริษัทมีส่วนต่างของอัตรบดอกเบี้ยต่อต้นทุนในระดับที่ 20% โดยที่คิดอัตราดอกเบี้ยราว 23% ในขณะที่มีต้นทุนทางการเงินที่ 3.5%
ส่วนกระแสข่าวว่าบริษัทปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าขนาดใหญ่และกลุ่มเอสเอ็มอีนั้น บริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มดังกล่าว และไม่มีการปล่อยสินเชื่อวงเงินเกิน 100 ล้านบาท โดยบริษัทยังคงเน้นปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อย วงเงินเฉลี่ย 20,000 บาท/ราย และไม่เกิน 400,000 บาท/ราย สินเชื่อที่บริษัทปล่อยกู้มีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท/ราย สินเชื่อจำรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 80,000 บาท/ราย สินเชื่อฉโนดที่ดิน วงเงินไม่เกิน 80,000 บาท/ราย สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท/ราย และสินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท/ราย
ปัจจุบัน บริษัทมีจำนวนฐานลูกค้าทั้งหมด 1.3 ล้านราย มีจำนวนสัญญา 1.8 ล้านสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญากู้ยืมในวงเงิน 20,000-80,000 บาท และมีสัญญาที่มีวงเงินกู้ยืมสูงสุด 400,000 บาท อยู่ราว 60-70 สัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัทไม่มีการปล่อยสินเชื่อในวงเงินเกินกว่า400,000 บาทแต่อย่างใด