(เพิ่มเติม) FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลงมาอยู่ในระดับทรงตัว จากปัจจัยตปท.ฉุดแต่ยังเชื่อมั่นงบฯบจ.-ศก.ภายใน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 21, 2018 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง 22.90% มาอยู่ที่ 92.65 ถือว่าเป็นภาวะทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนแรกในรอบ 9 เดือน หรือลดลงมาอยู่ในช่วงที่ค่าดัชนีระหว่าง 80-120 จากระดับ 120.17 ในเดือนก่อน

สำหรับปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมาจากปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ เงินทุนไหลเข้าออกและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม ขณะที่ยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญมาจากภายในประเทศ ที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) การเติบโตของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะการลงทุนอยู่ในระดับทรงตัว

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในภาวะทรงตัว (Neutral) โดยผลสำรวจระบุว่านักลงทุนกังวลปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะได้รับผลดีจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

โดยดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2561) ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (ช่วงค่าดัชนี 80 - 120) โดยลดลง 22.90% จากระดับ 120.17 ในเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มสถาบันภายในประเทศลดลงจากการสำรวจเดือนก่อน มาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลต่างปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ พลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ ธุรกิจการเกษตร

"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนเมษายนเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวค่อนข้างกว้างอยู่ในช่วง 1,724-1,801 จุด โดยแรงกดดันการลงทุนหลักมาจากการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย Bond Yield ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 3% และมูลค่าขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียในช่วงนี้ และนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตาม"นางวรวรรณ กล่าว

นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นจากความคาดหวังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีประเด็นติดตามความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้หรือไม่ หลังจากการประชุมในเดือนพฤษภาคมไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในซีเรียและการประกาศเตรียมถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านของสหรัฐฯเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนมากที่สุดที่นักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาค

นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมือง สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและจะส่งผลต่อกำหนดการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนในประเทศเฝ้าติดตาม

สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ 1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) จีนในไตรมาสแรก 1/61 ที่ 6.8% เป็นไปตามคาดการณ์ ขณะที่ความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าจะได้ข้อสรุป 2.การปรับตัวผันผวนของราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวทะลุ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศในช่วงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ