ส.นักวิเคราะห์ฯ มองเป้าดัชนี SET ปีนี้ที่ 1,850 จุด เข้าสู่ช่วงท้ายตลาดกระทิงปี 61-62 ฉุด Upside ไม่มาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 21, 2018 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า มีมุมมองสอดคล้องกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โดยยังคงเป้าดัชนีหุ้นไทยทั้งปีนี้ที่ 1,850 จุด หลังมองว่าในช่วงปี 61-62 ภาวะตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในช่วงท้ายของตลาดกระทิง (Bullish) ซึ่งจะมี Upside ไม่มาก และมีโอกาสเกิดความผันผวนจากกระแสเงินไหลออกเนื่องจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาล (Bond Yield) และอัตราดอกเบี้ยของโลก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีความไม่สอดคล้องกัน หรือมี yield curve ที่ flat เกินไป อีกทั้งยังมีการปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติได้ค่อนข้างช้า โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการปรับตัวราว 2-3 เดือน

ทั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกอาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย หรืออีกในมุมหนึ่งอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอาจมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไทยเองก็ได้รับผลกระทบจาก yield curve ด้วย เนื่องจากทำให้นักลงทุนเริ่มมีความระมัดระวังในการเข้าลงทุนมากขึ้น ซึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเข้าสู่ปกติเชื่อว่าจะมีกระแสเงินไหลเข้า เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจค่อนข้างดี จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก

เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดในเขตภูมิภาคอาเซียน อาทิ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่โดนแรงเทขายอย่างหนัก และมีกระแสเงินไหลออกจำนวนมาก จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและยังมีหนี้จากต่างประเทศสูง อีกทั้งเศรษฐกิจยังไม่รองรับการขาดสภาพคล่องในตลาด

นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นการระดมทุนด้วยรูปแบบของการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนครั้งแรก (ICO) ปัจจุบันยังมีความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีในเม็ดเงินที่บริษัทระดมทุนมา ซึ่งหากถูกประเมินว่าเป็นรายได้และไม่มีการยกเว้นภาษีจะทำให้การระดมทุนแบบ ICO ในประเทศมีความน่าสนใจลดลง ส่วนการเก็บภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สิน (Capital Gain Tax) มองว่าปัจจุบันยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่น่ากังวลนัก

นอกจากนั้น วิธีการระดมทุนแบบ ICO เป็นช่องทางการระดมทุนสำคัญสำหรับธุรกิจ Startup ซึ่งรัฐบาลเองก็มีความต้องการและผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Startup Hub โดยมองว่าการจัดเก็บภาษีจะต้องมีมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งยังต้องติดตามการตีความและการออกกฎหมายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ