บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ในกรอบ 1,744-1,774 จุด รับอานิสงส์จากสหรัฐฯและจีนบรรลุข้อตกลงด้านเศรษฐกิจและการค้าและระงับการทำสงครามการค้าชั่วคราว รวมถึงมีปัจจัยบวกจากในประเทศหลังสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 1/61 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส พร้อมปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปีนี้ขึ้นมาที่ 4.2-4.7%
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ GBS กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ได้รับผลบวกจากสหรัฐฯและจีนได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจและการค้า และทั้งสองประเทศยังได้ตกลงที่จะระงับการทำสงครามการค้าชั่วคราว และปัจจัยบวกในประเทศจากรายงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/61 ขยายตัว 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส พร้อมปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 61 สู่ 4.2-4.7% จากเดิม 3.6-4.6%
รวมถึงทีมเศรษฐกิจประเทศไทย ได้เดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ดึงประเทศเป้าหมายทั้งเอเชีย ยุโรป สหรัฐ แบบรัฐต่อรัฐหรือเอกชนร่วมลงทุน หลังกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีผลบังคับใช้ และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เร่ง 3 โครงการภายใต้ Fast Track นำเสนอภายในปีนี้ รวมมูลค่าลงทุน 4.47 แสนล้านบาท เดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาวะตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ มาจาก fund flow ยังผันผวนต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนย้อนหลังนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1.97 หมื่นล้านบาท และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นอีกจากกรณีชาวตุรกีเดินขบวนประท้วงกองกำลังอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ หลังจากสหรัฐย้ายสถานทูตประจำอิสราเอลไปยังนครเยรูซาเลมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ยังคงต้องจับตา ได้แก่ วันที่ 23 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดลงมติตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อโรดแมพการเลือกตั้ง และเป็นวันกำหนดชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 5 จากทั้งหมด 6 งวดซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้รับอนุญาตให้ยืดเวลาชำระได้ โดยต้องจับตาว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกมาตรา 44 มาช่วยเหลือทันหรือไม่
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้ สหภาพยุโรป (อียู) จะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ(PMI) ภาคบริการและภาคการผลิตเบื้องต้นเดือน พ.ค.ประกอบกับ สหรัฐฯ มีกำหนดเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคบริการและภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ และในเช้าวันที่ 24 พ.ค. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะเปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อ 1-2 พ.ค.ที่ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม 1.50-1.75%
ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ของ GBS คาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับขึ้น คาดว่าดัชนี SET ผันผวนในกรอบ 1,744-1,774 จุด แนะนำซื้อเก็งกำไร หุ้นที่มีปัจจัยบวก ได้แก่ DTAC ได้อานิสงส์จาก การเปิดประมูลประมูลคลื่น 1800 MHz ส่งผลให้กลับมามีความสามารถในการแข่งขันอีกครั้ง หุ้น MAI ที่คาดว่ากำไรปี 61 เติบโต เช่น JUBILE, ATP30, AGE, XO, SSP และ TPCH รวมถึง และหุ้น EEC Play ได้แก่ WHA, AMATA, EASTW, ATP30 และ ORI
ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำนั้น ราคาทองคำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เข้าสู่ช่วงรีบาวด์ แต่มีลักษณะแกว่งในกรอบแคบหลังดิ่งลงหลุดระดับ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ ทำให้แนวโน้มเข้าสู่ขาลงด้วยรูปแบบ M-shape ราคาจึงมีโอกาสจะค่อย ๆ ลดระดับลงมาตั้งหลักที่แนวรับต่าง ๆ ระหว่าง 1,235–1,275 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาทองปรับตัวลดลง ทั้งการประกาศยุติความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯเป็นการชั่วคราว และการปรับเพิ่มมุมมองของนักลงทุนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จึงกดดันต่อทิศทางราคาทองคำให้มีแนวโน้มอ่อนลง ให้คำแนะนำซื้อเก็งกำไรเมื่อราคาผ่านขึ้นเหนือ 1,295 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยแบ่งปิดทำกำไรเป็นรอบสั้น ๆ และ trading short เมื่อราคาหลุดระดับ 1,285 ดอลลาร์/ออนซ์