นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เปิดเผยว่า หน่วยลงทุนใหม่ของกองทุน DIF จากการเสนอขายตามแผนระดมทุนเพื่อลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 3 จะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ โดยมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่ให้ความสนใจในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับช่วงที่เปิดจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ก่อนหน้านี้ จนสามารถปิดการจองซื้อได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ โดยมีราคาเสนอขายสุดท้ายของหน่วยลงทุนใหม่ที่ 13.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นอีกด้วย
บลจ.ไทยพาณิชย์มีความตั้งใจบริหารจัดการกองทุน DIF เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน โดยผลการดำเนินงานของกองทุน DIF ที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดี โดยสะท้อนจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนฯ ณ สิ้นปี 2556 – 2560 อยู่ที่ 10.0471, 12.4161, 12.3241, 14.6191 และ 15.5630 บาทต่อหน่วยตามลำดับ
ขณะที่อัตราจ่ายเงินปันผลต่อหน่วยลงทุน (DPU) ในปี 2557-2560 อยู่ที่ประมาณ 0.94 0.95 0.96 และ 0.98 บาทต่อหน่วยตามลำดับ ซึ่งถือว่าสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอและเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภายหลังจากการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 จะทำให้กองทุน DIF มีทรัพย์สินขนาดใหญ่ขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม 15,271 เสา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาวและสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงประมาณ 2.6 ล้านคอร์กิโลเมตร โดยกว่าร้อยละ 49 เมื่อคิดจากใยแก้วนำแสงที่สามารถให้เช่ากับผู้เช่ารายอื่น กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่น และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต โดยมีสินทรัพย์รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 175,042 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้อายุสัญญาเช่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักยาวนานขึ้นเป็นประมาณ 20 ปี ซึ่งส่งผลดีทำให้กองทุนมีรายได้ที่มั่นคง โดยประมาณการเงินปันผลต่อหน่วยลงทุน (ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 – 30 มิ.ย. 2562) จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1.04 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับปี 2560 (ม.ค.-ธ.ค.) ที่ 0.98 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นประมาณการอัตราผลตอบแทนในปีแรกที่ร้อยละ 7.48 เมื่อเทียบกับราคาเสนอขายสุดท้ายของหน่วยลงทุนใหม่ที่ 13.90 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจากเงินปันผลถึงปี 2566 อีกด้วย
"เราเชื่อว่ากองทุน DIF จะได้รับผลเชิงบวกในทางอ้อมจากภาวะอุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้บริการข้อมูลและอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ผ่านทางธุรกิจของกลุ่มทรูที่เป็นผู้เช่าทรัพย์สินหลักของกองทุนฯ และธุรกิจของผู้ประกอบการด้านสื่อสารโทรคมนาคมรายอื่น ๆ ที่ต้องการพัฒนาโครงข่ายของตนให้ตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นได้ นอกจากนี้การที่มีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เข้ามาเช่าใช้เสาโทรคมนาคม หรือ ใยแก้วนำแสง ที่เป็นทรัพย์สินของกองทุนฯ ยังเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันและช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย" นายสมิทธ์ กล่าว